กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) อัดฉีดเอสเอ็มอีไทยให้เข้าใจตลาดและเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียที่คาดว่าจะมีมูลค่าการบริโภคอาหารสูงถึง 68.87 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 110.61 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2558 คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 58.3 ขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดเศรษฐกิจ อินโดแจ่มใสจะโตอย่างน้อยร้อยละ 6 ต่อปี แนะผู้ประกอบการต้องศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการค้าอาหารระหว่างกันให้ถ่องแท้ ทั้งกฎระเบียบ ขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) กล่าวว่า การจัดสัมมนาเรื่อง “โอกาสทองของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอินโดนีเซีย” ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการตลาด(Capacity Building Program) สาขาอุตสาหกรรมอาหาร ที่สสว.ได้มอบหมายให้สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินโครงการ ด้วยภารกิจหลักของสสว.ที่มีความชัดเจนในเรื่องของการมุ่งเน้นพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้สัมฤทธิ์ผลตามแผนแม่บท และแผนปฎิบัติการส่งเสริมเอสเอ็มอี ทั้งนี้ได้แบ่งการสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็น 2 ส่วนกิจกรรม คือ กิจกรรมขยายช่องทางการค้าและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านธุรกิจ และกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการขยายช่องทางการค้าในอุตสาหกรรมแต่ละสาขา โดยการอบรม สัมมนา
“สำหรับประเทศอินโดนีเซียนั้น นับเป็นประเทศที่มีประชากรสูงถึง 245 ล้านคน โดยผู้บริโภคที่มีรายได้สูงคิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 24.5 ล้านคน คนกลุ่มนี้จะอาศัยในเขตเมืองใหญ่ ชอบสินค้าที่มีแบรนด์เป็นที่น่าเชื่อถือ บริโภคสินค้านำเข้าจำนวนมาก รวมทั้งอาหารอินทรีย์และอาหารเพื่อสุขภาพก็มีแนวโน้มขยายตัวดี ขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยค่าใช้จ่ายด้านอาหารอยู่ในราวร้อยละ 50 ของรายได้ โดยมีการประเมินไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ว่า การบริโภคอาหารของอินโดนีเซียในปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 68.87 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 110.61 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2558 คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 58.3
การมองภาพของอินโดนีเซียขอให้มองในมุมใหม่ เพราะอินโดนีเซียกำลังมีอัตราขยายตัวของเมืองสูงมาก มีชอปปิ้งมอลล์ใหญ่ๆกระจายอยู่ทั่วไปทุกเมือง และอีกประเด็นที่ควรพิจารณาในเรื่องโครงสร้างตลาดคือ อย่าลืมว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ถึงร้อยละ 86.1 ดังนั้นอาหารที่จะเข้าสู่ตลาดนี้จึงควรได้รับการรับรอง ฮาลาล”
ด้านนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่าในปี 2553 ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีมูลค่าการนำเข้าอาหาร 10,730.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกมีมูลค่า 23,033.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกินดูลการค้าอาหารอยู่ 12,302.89 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยสินค้าที่มีการนำเข้าและส่งออกส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรเบื้องต้นเป็นหลัก อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 14 ของโลก แหล่งนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่สำคัญของอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 18 ออสเตรเลีย ร้อยละ 14.6 จีน ร้อยละ 11 ไทย ร้อยละ 10 และอาร์เจนตินา ร้อยละ 8.3 โดยมูลค่านำเข้าของทั้ง 5 ประเทศรวมกันมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 62 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด
ส่วนประเภทสินค้าอาหารและวัตถุดิบเกษตรที่อินโดนีเซียนำเข้า ที่สำคัญคือกลุ่มธัญพืช ได้แก่ ข้าวสาลี ร้อยละ13.3 ข้าวโพดร้อยละ 3.44 และข้าวร้อยละ 3.36 มีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มอาหารสัตว์ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 17 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ที่สำคัญได้แก่ กากถั่วเหลืองและอาหารสัตว์สำเร็จรูป สินค้าเกษตรวัตถุดิบนำเข้าที่สำคัญอีกกลุ่มคือ เมล็ดพืชน้ำมัน โดยเฉพาะถั่วเหลือง มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด สินค้าแปรรูปขั้นต้นที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์นม แป้งและสตาร์ช นอกจากนี้อินโดนีเซียมีการนำเข้าผลไม้สด แช่แข็งและถั่วประมาณร้อยละ 6 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด และผักสด แช่แข็ง แห้งร้อยละ 4
สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการค้าอาหารระหว่างไทยกับอินโดนีเซียนั้น นายอมร กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community - AEC) เมื่อ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ทำให้ไทยและอินโดนีเซียมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน และจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี ซึ่งอาเซียนถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ด้านฐานการผลิตอาหารที่สำคัญของโลก รวมทั้งขนาดประชากรที่มากถึง 600 ล้านคนและคาดว่าจะเป็น 650 ล้านในปี 2558
โดยอินโดนีเซียก็เป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีวัตถุดิบการเกษตรหลายรายการที่ไทยยังไม่มีศักยภาพหรือผลิตได้ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นโกโก้ มะพร้าว วัตถุดิบประมง หรือแม้แต่น้ำมันปาล์ม โดยการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น อาจจะเป็นการร่วมทุนเพื่อลดอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ลง แทนที่จะต้องขนวัตถุดิบมาแปรรูปในไทยก็ลงทุนแปรรูปที่อินโดนีเซียเพื่อจำหน่ายในอินโดนีเซียและส่งออกไปเลย
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 สินค้าเกษตรจำนวน 23 ชนิด ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 มีส่วนช่วยให้สินค้าที่ส่งออกจากไทยมีราคาต่ำลง ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดอินโดนีเซีย นอกจากนี้อินโดนีเซียไม่มีสินค้า sensitive list และภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมจะปรับลดภาษีนำเข้าน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 0 ทันทีในปี 2553 ยกเว้นอินโดนีเซียที่จัดน้ำตาลเป็นสินค้าในกลุ่มอ่อนไหวสูง โดยกำหนดภาษีนำเข้าไว้ที่ร้อยละ 40 ในปี 2553 ก่อนที่จะลดลงเหลือร้อยละ 5-10 ในปี 2558 ส่วนฟิลิปปินส์จัดสินค้าไว้ในกลุ่มอ่อนไหวจัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0-5 ในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่อันประกอบไปด้วย
เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่านั้นแม้ว่าจะไม่ปรับลดภาษีลงมาเหลือร้อยละ 0 แต่อัตราภาษีที่จัดเก็บก็อยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0-5 ในปี 2553 เท่านั้น
ประเทศในกลุ่มอาเซียนยกเว้นไทย ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ ส่วนไทยนั้นนอกจากจะสามารถผลิตน้ำตาลเพื่อบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอต่อความต้องการแล้ว ยังมีน้ำตาลเหลือเพื่อการส่งออกถึงกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณผลิตทั้งหมด และในจำนวนนั้นกว่าร้อยละ 37 เป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน โดยส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียในสัดส่วนสูงที่สุดร้อยละ 50.9 ของปริมาณการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน
ประเทศในอาเซียนบางรายที่ไม่สามารถแข่งขันกับน้ำตาลนำเข้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีได้ บางส่วน อาจต้องปรับลดพื้นที่เพาะปลูกอ้อยลงและหันไปปลูกพืชประเภทอื่นๆที่ตนเองเห็นว่ามีศักยภาพแข่งขันที่ดีกว่า อาทิ ปาล์มน้ำมัน หรือยางพาราของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย หรือข้าวของพม่ากัมพูชา ลาวและเวียดนาม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกน้ำตาลเข้าไปทดแทน อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรการทางภาษีลดลงแล้ว มาตรการด้านการปกป้องและการต่อต้านการทุ่มตลาดก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ผู้ส่งออกควรต้องศึกษาในประเด็นนี้ด้วย
“จากข้อมูลการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน ในส่วนของการนำเข้าพบว่าในปี 2553 ซึ่งภาษีระหว่างกันส่วนใหญ่ลดเหลือร้อยละ 0 การนำเข้าจากอินโดนีเซียในปี 2553 มีปริมาณ 484.58 พันตัน มูลค่า 12,236.52 ล้านบาท โดยมูลค่ามีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับปี 2552/51 ซึ่งมีอัตราขยายตัวติดลบ ร้อยละ 13.81 แต่ทั้งนี้สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าประมงวัตถุดิบ เมล็ดโกโก้ รังนก พริก และขนมปังพวกเวเฟอร์ บิสกิต สำหรับด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยไปอาเซียน โดยภาพรวมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันการส่งออกไปอินโดนีเซียมีปริมาณ 2,020.4 พันตัน มูลค่า 32,725.86 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.4 เมื่อพิจารณาย้อนกลับไปดูอัตราเติบโตปี 2552/51 พบว่ามูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ 9.62 เนื่องจากในปีนั้นการส่งออกน้ำตาลลดลงจากปี 2551ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการค้าอาหารระหว่างไทย-อินโดนีเซีย ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ อุปสรรคด้านกฎระเบียบ และขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ ซึ่งผู้จะส่งออกต้องค้นหาบริษัทตัวแทนที่มีความสามารถในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนมีความสามารถในการกระจายสินค้า จัดการด้านโลจิสติกส์ได้ทั่วประเทศและวางแผนการตลาดได้ดี ส่วนการจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องทำความเข้าใจคู่ค้าในเชิงของวัฒนธรรมและสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เพราะบางสินค้าอาจจะเข้าไปไม่ถูกช่วงเวลา และช่องทาง ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จ ขอให้ลองพยายามช่องทางใหม่ๆดู เพราะอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ไทยควรจะเข้าไปทำตลาดให้เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ไอเอ็มเอฟ ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในช่วงปี 2554-2556 ไว้ว่ามีทิศทางที่แจ่มใส อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง อัตราการว่างงานก็ต่ำลงเล็กน้อย คาดว่ามีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 6 ขึ้นไปต่อปี เพราะหากเอสเอ็มอีไทยสามารถเข้าตลาดฮาลาลขนาดใหญ่นี้ได้ ตลาดฮาลาลอื่นๆก็จะมีลู่ทางแจ่มใสมากขึ้นด้วย” นายอมร กล่าว