กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--maskmedia
ทันทีที่ข่าวการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล ทวีความรุนแรงขึ้น จากข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อแบคทีเรีย อีโคไลทางภาคเหนือของเยอรมันจนทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อไปแล้วกว่า 1,200 คน ใน 8 ประเทศเป็นอย่างน้อยไม่เว้นแม้แต่ชนชาติยุโรป ทำให้เกิดกระแสหวั่นวิตกถึงความอันตรายของเจ้าเชื้อโรคตัวฉกาจ แม้ว่า อีโคไล จะไม่ใช่เชื้อโรคหน้าใหม่ที่พึ่งค้นพบในบ้านเราก็ตาม
พญ.รัชวัลย์ เทพาวัฒนาสุข อายุรแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า คนไทยรู้จักแบคทีเรียที่มีชื่อว่า อีโคไล หรือ Escherichia มานานพอควร ในฐานะที่เป็นแบคทีเรียก่อโรค อาศัยอยู่ในอยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้ของมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งมีอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ โดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง ในขณะที่บางสายพันธุ์ของเชื้อ อีโคไล เช่น เอนเทอโรฮีโมเรจิก อีโคไล(Enterohaemorrhagic E.coli, EHEC) สามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรง เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และเยื้อหุ้มสมองอักเสบ และอาการท้องร่วง
เชื้อเอนเทอโรฮีโมเรจิก อีโคไล (EHEC) ทำให้เกิดโรคโดยการสร้างและปล่อยสารพิษชื่อ ชิก้า ท๊อกซิน (Shiga toxin) ซึ่งสามารถทำลายเม็ดเลือดแดงและไตได้ ตัวอย่างที่สำคัญของเชื้อสายพันธุ์ เอนเทอโรฮีโมเรจิก อีโคไล (EHEC) เช่น สายพันธุ์ อีโคไล O157:H7 และ อีโคไล ซีโรกรุ๊ป O104 (E.coli Serogroup O104) ที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุการระบาดที่เยอรมัน ณ ขณะนี้
เชื้ออีโคไลแพร่สู่คนได้อย่างไร ???
โดยปกติแล้วอีโคไลจะมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะในมูลสัตว์ และแพร่สู่คนได้จากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อดังกล่าวมักปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ได้รับการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก นมที่ไม่ได้ผ่านขบวนการทำลายเชื้อ นอกจากนี้การปนเปื้อนของเชื้อโรคจากอุจจาระ สู่อาหารและน้ำ อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเตรียมและการปรุงอาหาร เชื้อจะเจริญและเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 7-50 องศาเซลเซียสและจะถูกทำลายได้ด้วยความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
ลักษณะอาการของผู้ได้รับเชื้ออีโคไล สามารถพบอาการตั้งแต่เริ่มท้องร่วงเล็กน้อย จนกระทั่งเกิดภาวะลำไส้อักเสบ ร่วมกับอุจจระเหลวมีเลือดปนหรือมีมูกเลือด ปวดท้อง อาเจียน อาจจะมีไข้ร่วมด้วย และผู้ป่วยในรายที่อาการรุนแรงจากสารพิษทำลายเม็ดเลือดแดงและไตทำให้เกิดไตวายฉับพลัน ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก (ร้อยละ 3-7 ของผู้ติดเชื้อ) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการมักจะหายภายใน 10 วัน
เชื้ออีโคไล มีระยะฟักตัวระหว่าง 3-8 วัน โดยเฉลี่ยแล้ว 3-4 วัน ส่วนใหญ่จะก่อโรคในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เนื่องจากร่างกายของคนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งมักจะเป็นการระบาดแบบชนิดประปราย และน้อยครั้งที่จะมีการระบาดใหญ่เหมือนกรณีที่เยอรมัน
ข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าผู้เสี่ยงได้รับเชื้ออีโคไลมากที่สุดเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ เนื่องจากร่างกายของคนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป และแม้ว่าผู้ได้รับเชื้อจะสามารถนำเชื้อชนิดนี้ออกจากร่างกายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่เชื้อส่วนที่หลงเหลือเพียงเล็กน้อยยังสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่นเกิดภาวะไตเสื่อม ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย แม้ในทางทฤษฎีเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ โอ -104 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ ยังไม่พบการระบาดของเชื้อนี้ในประเทศไทยและหากย้อนดูจากสถิติตั้งแต่ปี 2538 — ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้ออีโคไลป่วยถึงขั้นมาหาหมอถึงโรงพยาบาลแค่ 7 ราย และยังไม่พบผู้เสียชีวิต เนื่องจากคนไทยมีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดนี้ได้อย่างไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
การรักษาผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้โดยตรงนั้น ส่วนใหญ่แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น ให้แค่น้ำเกลือทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย และปล่อยให้เชื้อจะถูกขับออกมาจนหายไปเอง แทนการใช้ยาฆ่าเชื้อ เนื่องจากจะยิ่งกระตุ้นให้เชื้อโรคผลิตสารพิษออกมามากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยทรุดหนัก อีกทั้งไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มสเตอรอยด์และยากลุ่มแอสไพริน เพราะยากลุ่มนี้จะมีผลต่อการทำงานของไต การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากเชื้ออีโคไลที่ดีที่สุด คือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และหากสงสัยว่าจะติดเชื้อควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที ไม่ควรซื้อยากินเอง และรักษาความสะอาดเรื่องอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม ตลอดจนภาชนะที่ใช้เพื่อลดการติดเชื้อเพิ่มและกระจายเชื้อสู่คนในครอบครัว คุณหมอกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-732-6069-70 maskmedia