กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์
การไฟฟ้านครหลวง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จัดกิจกรรม “กฟน. รวมพลังคนพันธุ์อา...ปลูกป่าชายเลน ปีที่ 4 ”
นายสมศักดิ์ ศรีทองวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และนายพันธุ์ศักดิ์ โรจนากาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กิจกรรม “กฟน. รวมพลังคนพันธุ์อา...ปลูกป่าชายเลน ปีที่ 4” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนเห็นความสำคัญของป่าชายเลนร่วมกันปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน
นายสมศักดิ์ ศรีทองวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยได้ลดจำนวนลงอย่างมาก และอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง การไฟฟ้านครหลวงในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ได้สนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนมาโดยตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ต่างๆ พร้อมให้ความรู้โดยการศึกษาจากธรรมชาติ สร้างการเรียนรู้ให้กับเยาวชนแบบบูรณาการจากประสบการณ์จริง และสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้เกิดความรู้สึกรักและหวงแหนป่าชายเลนอย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ การไฟฟ้านครหลวง ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จัดกิจกรรม “กฟน. รวมพลังคนพันธุ์อา...ปลูกป่าชายเลน ปีที่ 4” โดยนำเยาวชนกว่า 2,000 คน ซึ่งเป็นนักเรียนอาชีวศึกษาในสังกัด พื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยแบ่งเป็น 10 รุ่น ๆ ละ 200 คน เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนในระหว่างวันที่ 15 - 28 มิถุนายน 2554 ณ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ จังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากการจัดกิจกรรม “กฟน. รวมพลังคนพันธุ์อา...ปลูกป่าชายเลน สำหรับเยาวชนนักเรียน นักศึกษาแล้ว การไฟฟ้านครหลวงได้สนับสนุนการบำรุงรักษาป่าชายเลนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 พร้อมกับมีการจัดทำแนวกันคลื่นด้วยการนำเสาไฟฟ้าที่ชำรุดของการไฟฟ้านครหลวงสวมยางรถยนต์เก่าเพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นเซาะพื้นที่ชายฝั่ง และช่วยอนุบาลกล้าไม้ที่ปลูกไว้ให้เจริญเติบโต ทั้งนี้ได้ให้คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยประสิทธิภาพการดักตะกอนและการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าปัจจุบันมีอัตราการตกตะกอนของดินบริเวณหลังแนวกันคลื่นเพิ่มขึ้นประมาณ 72 เซนติเมตร พื้นที่ชั้นในที่ติดกับแนวพื้นดินมีความแข็งแกร่งขึ้น เพราะมีการยึดเกาะของตะกอนดินเหนียวแน่นมากขึ้น อีกทั้งยังมีการกลับคืนมาของสัตว์น้ำนานาพันธุ์และนกนานาชนิดที่เคยมีในบริเวณดังกล่าว ทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้ามีความอุดมสมบูรณ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมไดที่ : ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ บริษัทกนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ จำกัด โทร 0-2284-2662
คุณกวิศรา กอวัฒนสกุล E-mail: kawitsara@kanokratpr.com