กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ก.ไอซีที
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยเกี่ยวกับแนวทางการรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม ว่า กระทรวงฯ จะจัดทำรายงานสรุปผลการประชุมร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2554 เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบในสัปดาห์หน้า หรือ สัปดาห์ถัดไปเป็นอย่างช้า ซึ่งผลการเจรจาเกี่ยวกับสิทธิวงโคจรดาวเทียมในตำแหน่ง 120 องศา ที่กำลังจะหมดอายุลงช่วงปลายปีนี้ หากประเทศไทยยังไม่จัดส่งดาวเทียมขึ้นไปประจำตำแหน่งนั้นได้ทันตามกำหนด ไอทียู ได้แนะนำให้เช่าดาวเทียมมาประจำในตำแหน่งดังกล่าว เพื่อรักษาสิทธิเอาไว้ก่อนจะจัดส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นใช้งาน
“ในการดำเนินการจองสิทธิวงโคจรดาวเทียมจนถึงการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรนั้น อายุของเอกสารการจองจะมีระยะเวลา 7 ปี โดยในช่วงแรกเป็นขั้นตอนการยื่นเรื่องขอจองตำแหน่งวงโคจรกับทางไอทียูก่อน แล้วจึงดำเนินการเจรจากับประเทศต่างๆ ที่มีตำแหน่งวงโคจรใกล้เคียง เพื่อพิจารณาว่าข่ายงานดาวเทียมของประเทศไทยจะมีความถี่รบกวนการใช้งานดาวเทียมของประเทศเหล่านั้นหรือไม่ เมื่อประเทศต่างๆ ยินยอมก็จะแจ้งผลการประสานงานให้ ไอทียู แล้วประเทศไทยก็จะได้สิทธิในวงโคจรที่ขอจอง หลังจากนั้นจะต้องดำเนินการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้ตำแหน่งวงโจรที่ 120 องศา เหลือระยะเวลาที่จะต้องส่งดาวเทียมเพียง 6 - 7 เดือน จึงต้องเร่งดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยคงต้องรักษาสิทธิที่ตำแหน่งดังกล่าว โดยทำตามคำแนะนำของ ไอทียู ที่ต้องมีดาวเทียมมาไว้ยังตำแหน่งนี้ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือมากกว่านั้น จนกว่าจะมีดาวเทียมดวงใหม่ของประเทศไทยขึ้นใช้งานต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดหาได้ภายในเดือนสิงหาคม - กันยายนนี้เป็นอย่างช้า เพื่อให้มีการรักษาสิทธิวงโคจรในตำแหน่งนั้นๆ ไว้ไม่น้อยกว่า 3 เดือน โดยในเบื้องต้น บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้มีประสานงานหารือแนวทางการดำเนินการกับผู้ประกอบการด้านดาวเทียมไว้บ้างแล้ว คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเช่าดาวเทียมมาจองตำแหน่งเอาไว้ หรืออาจเจรจากับบริษัทผู้ผลิตและจัดส่งดาวเทียมให้จัดหาดาวเทียมสำรองมาประจำตำแหน่งเพื่อรักษาสิทธิให้ก่อนจัดสร้างดาวเทียมดวงจริง” นางจีราวรรณ กล่าว
สำหรับสิทธิวงโคจรดาวเทียมอื่นที่ยังไม่มีดาวเทียม 3 ตำแหน่ง ได้แก่ 50.5 องศา 126 องศา และ 142 องศา นั้นยังมีเวลาที่จะดำเนินการแต่ก็ต้องพิจารณาดำเนินการควบคู่ไปกับตำแหน่ง 120 องศา โดยเฉพาะที่ 50.5 องศานั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยก็จะมีดาวเทียมไทยคม 6 อีกหนึ่งดวง ซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอต่อความต้องการในระยะสั้น สำหรับการวางแผนระยะยาว กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ไปดำเนินการศึกษาแนวทางการใช้และรักษาสิทธิวงโคจรทั้ง 4 ตำแหน่งดังกล่าว โดยเฉพาะในตำแหน่งวงโคจรที่ 120 องศานั้น ขอให้ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้สามารถนำเสนอแนวทางการดำเนินการแก่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาได้ทันที
“ขณะนี้เหลือเวลาในการดำเนินงานเรื่องนี้น้อยมาก จึงต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาตำแหน่งวงโคจรทั้งหมดไว้ให้ได้ โดยเฉพาะ กสทช. ควรให้ความร่วมมือกับกระทรวงฯ เนื่องจากในอนาคตความถี่ดาวเทียมก็จะอยู่ในการดูแลของ กสทช. ตามอำนาจหน้าที่ ส่วนวงโคจรเพื่อใช้วางดาวเทียมยังคงเป็นของรัฐบาลตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านอวกาศ” \ นางจีราวรรณ กล่าว