กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ยูเอ็นเอดส์
รายงานจากยูเอ็นเอดส์ พบว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของโลกเกิดผลสำเร็จในการเข้าถึงการรักษา และอัตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ลดลง 25%
ปี 2554 เป็นปีที่ครบ 30 ปี ของการระบาดของเอดส์ นับตั้งแต่ได้พบผู้ป่วยเอดส์รายแรก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2524 UNAIDS รายงานว่าปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่รวมแล้วประมาณ 34 ล้านคน และเกือบ 30 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์
จากรายงานล่าสุดเกี่ยวกับ ‘ 30 ปีเอดส์ ‘: Nations at the Crossroads ซึ่งแถลงเมื่อ เร็ว ๆ นี้ โดยโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ( นิวยอร์ค/เจนีวา 3 มิถุนายน 2554 )
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี มีความก้าวหน้าอย่างมาก
ในปี 2553 มีผู้เริ่มเข้ารับการรักษา 1.4 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จากการทดลองการรักษา NPTN 052 พบว่าถ้าผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างครบถ้วนและได้ผล ก็จะลดความเสี่ยงของการถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่นอนได้ถึง 96 %
ผลสำเร็จของการป้องกัน
อัตราการติดเชื้อ เอชไอวี ทั่วโลกได้ลดลงประมาณ 25 % ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2552 ในประเทศอินเดีย การติดเชื้อรายใหม่ลดลง 50% และในแอฟริกาใต้ลดลง 35% ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุด
ในช่วงทศวรรษที่ 3 ของการแพร่ระบาด ประชาชนเริ่มมีพฤติกรรมทางเพศอย่างปลอดภัยซึ่งเป็นผลของงานป้องกันและการรณรงค์สร้างความตระหนัก แต่ก็ยังมีช่องว่างที่สำคัญ เช่น ร้อยละ 74 ของเยาวชนชาย รู้ว่าถุงยางอนามัยใช้ป้องกัน เอชไอวี อย่างได้ผล ในขณะที่เยาวชนหญิงเพียงร้อยละ 49 มีความรู้ดังกล่าว
เอดส์ยังไม่สิ้นสุด-ความท้าทายที่สำคัญยังมีอยู่
ในขณะที่ในภาพรวม อัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลง 25 % แต่ ยังมีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาค เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาใต้อัตราการติดเชื้อรายใหม่ลดลงกว่าร้อยละ 25 แต่ในขณะที่พบว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ อย่างไรก็ดีปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโลก 7,000 คน ต่อวัน
ทรัพยากรสำหรับงานแก้ไขปัญหาเอดส์ลดน้อยลง
งบประมาณที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง สูงขึ้นเกือบ 10 เท่าในปี 2544 - 2552 (จาก 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็น 15.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ในปี 2553 งบประมาณสนับสนุนจากนานาชาติลดน้อยลง ประเทศมีรายได้ต่ำยังต้องพึ่งงบประมาณจากต่างชาติเป็นหลัก และพบว่ามี56 ประเทศที่ต้องพึ่งงบสนับสนุนจากต่างชาติอย่างน้อย 70% ของงบประมาณที่ประเทศต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาเอดส์ มร.ไมเคิล ซิติเบ้ ผู้อำนวยการใหญ่ ยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) กล่าว“ผมมีความกังวล เพราะงบประมาณสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเอดส์ จากนานาชาติที่ลดต่ำลง ในช่วงเวลาที่การป้องกันกำลังได้ผล ถ้าเราไม่ลงทุนตอนนี้ เราจะต้องใช้จ่ายงบประมาณอีกมากมายหลายเท่าในอนาคต”
คนรุ่นใหม่เป็นผู้นำการปฏิวัติ การป้องกันเอชไอวี
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2554 มีการประชุมคณะกรรมาธิการระดับสูงของ UNAIDS ด้านการป้องกัน เอชไอวี ณ รอบเบนไอส์แลนด์ ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมี อาร์คบิชอบ กิตติคุณ เดสมอนด์ ตูตู เป็นประธานร่วม และ คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมาธิการระดับสูงที่เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งให้ความเห็นว่าต้องรณรงค์และทำงานป้องกันเอดส์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ(ICT) และเครือข่ายสังคม (Social Network) ตลอดจนมีนวัตกรรมความร่วมมือให้มากขึ้น กับภาคเอกชน กีฬา บันเทิงและ ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น และที่ประชุมได้ส่งผ่านความเป็นผู้นำในการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ให้กับ ผู้นำเยาวชนทั้งหลายในโลก มีการรายงานตัวอย่างที่น่าทึ่งมากมายที่การรณรงค์ประสบความสำเร็จ โดยการนำของเยาวชน
www.unaids.org
ยูเอ็นเอดส์: โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เป็นความคิดริเริ่มในการร่วมมือเพื่อนำพาและสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวโลกประสบความสำเร็จในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การรักษาเยียวยา และการสนับสนุนต่าง ๆ
เป้าหมายเชิงวิสัยทัศน์ของยูเอ็นเอดส์คือมุ่งสู่การเป็นศูนย์สามด้าน:
การติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ การเลือกปฏิบัติเป็นศูนย์ และ การเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเอดส์เป็นศูนย์
(UNAIDS’ vision: Zero new HIV infections. Zero discrimination. Zero AIDS-related deaths.)