กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นภาคกลางซึ่งเป็นภาคสุดท้ายในเวที 4 ภูมิภาค ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวรายงาน ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร" และนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวขอบคุณ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากภาคส่วนต่าง ๆ เกือบ 400 คน
ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวเปิดเปิดการสัมมนาความว่า ประเทศอาเซียนมี 10 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย สามเสาหลัก คือ 1) การเมืองความมั่นคง 2) สังคมและวัฒนธรรม 3) เศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอาเซียนสู่ระดับโลก สามารถเคลื่อนย้ายฐานการผลิตได้อย่างเสรี ลดกำแพงภาษีระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทในประเทศสมาชิกได้อย่างสันติ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น มีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศอาเซียนจะมีความเกี่ยวข้องกับสังคมในเกือบทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน สาธารณสุข ดังนั้น จึงต้องมีการบูรณาการระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชน ภายใต้การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกโอกาส ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ตลอดจนประเทศและระหว่างประเทศ และต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของประชาชนให้มีความสำนึกในคุณธรรม จึงจะทำให้การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลต่อไป
หลังจากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยวิทยากร ศาสตราจารย์ ดร. ณัฎฐพงศ์ ทองภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อภิปรายในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับโลกาภิวัตน์” โดยพูดถึงเรื่องของกระแสโลกาภิวัตน์ว่าอาเซียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ คำว่าโลกาภิวัตน์ คือ การเชื่อมโยงของโลกกับประเทศต่างๆ โลกแคบลง มีการเข้าหากันได้ง่ายขึ้น ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ง่าย เศรษฐกิจขยายตัว ลดความยากจนลงได้ แต่ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้นจะไม่ช่วยในด้านการกระจายรายได้ และการค้าให้มีความมั่นคง แข็งแรง การเตรียมตัวข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำว่าพอเพียงนั้นเป็นได้ทั้ง “ความสมดุล ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้” และ “ความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันในตนเองเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก” การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในระดับประเทศ รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ดีและแก้ไขปัญหาความยากจนเรื้อรังให้หมดไป ในระดับองค์กร
ต้องทำให้บุคลากรภายในองค์กรมีความพอประมาณและรู้จักออม และต้องกระทำอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรอบรู้และมีภูมิคุ้มกันต่อ
การเปลี่ยนแปลง
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักการค้าบริการและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อภิปรายในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” โดยกล่าวว่า อาเซียนจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วจะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรอย่างเสรี ดังนั้นไทยจึงต้องคิดว่า อยากจะได้บุคลากรจากประเทศใดเข้ามาหรือจะส่งบุคลากรจากไทยไปที่ประเทศใด นอกจากนั้นภาษีการนำเข้าจะเป็นศูนย์ การทำธุรกิจภาคบริการหรือการลงทุนสามารถกระทำในประเทศอื่นในอาเซียนได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันไทยก็ต้องเปิดเสรีถึง 70% ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ “made in Thailand” เพียงอย่างเดียว แต่อาจเปลี่ยนเป็น “made in ASEAN” ผลที่จะเกิดขึ้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องกระตุ้น ต้องปรับตัวเตรียมรับมือ และควรแนะให้ภาคเอกชนใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกมากกว่าเชิงรับ
ด้านนายกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อภิปรายในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้านอุตสาหกรรม” โดยเสนอแนะเรื่องการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC ว่า ควรพัฒนาด้านภาษาในการติดต่อสื่อสาร ตลอดจนผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมและต่อต้านโลกร้อน รวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อ
สังคม ควรศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับถิ่นกำเนิดสินค้าและมาตรฐานอาเซียน ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การจัดการการผลิตและต้นทุน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงพัฒนาศักยภาพและ
เตรียมความพร้อมของบุคลากร โดยเฉพาะแรงงานฝีมือและช่างเทคนิค
นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ ผู้อำนวยการสำรักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อภิปรายในหัวข้อ การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้านการเกษตร” กล่าวว่า จุดเด่นของสินค้าเกษตรไทยในปัจจุบัน คือ มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานซึ่งสร้างความโดดเด่นและความแตกต่างจากประเทศคู่แข่ง มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของแรงงานภาคเกษตรในอนาคต เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการศึกษาน้อย อีกทั้งการผลิตยังต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ นางสาวรังษิตฯ ยังเสนอแนวทางและมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ หนึ่ง ด้านการนำเข้า ควรกำหนดมาตรฐานการผลิตและมาตรการด้านสุขอนามัย เช่น ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย เป็นต้น และสอง ด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ควรมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินคาเกษตรสู่สากล ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรตามปรัชญา
เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร
นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา อภิปรายในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยสู่การเข้าร่วมประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ด้านการศึกษา” โดยกล่าวว่า การศึกษาเป็นกลไกหลักในการนำอาเซียนก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยต้องปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์ในการสร้างเสริมความร่วมมือในอาเซียน เกิดความตระหนักร่วมกันถึงคุณค่าและความเป็นมนุษย์และพลเมืองอาเซียนร่วมกัน การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาหลัก 7 สาขา คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี
ในช่วงบ่ายเป็นการสัมมนากลุ่มย่อย โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อยคือ กลุ่มเกษตรกรรม, กลุ่มอุตสาหกรรมแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน, กลุ่มเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง และการบริการ, กลุ่มศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์, กลุ่มสุขภาพ คุณภาพชีวิต และกีฬา และกลุ่มยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วม
หลังจบการสัมมนาทั้ง 4 ภูมิภาค จะเป็นการสัมมนาประจำปีในเรื่องเดียวกันที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นสภาที่ปรึกษาฯ จะรวบรวมความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาทั้งหมด มาสังเคราะห์และวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป