กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่มูลค่า 3,500 ล้านบาทของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ที่ระดับ “AAA” ในขณะเดียวกันยังยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท (PTEP183A) ของบริษัทที่ระดับ “AAA” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ความเข้มแข็งของปริมาณสำรองปิโตรเลียม และการสนับสนุนจากรัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการถือสัมปทานปิโตรเลียม อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในระดับสูง และฐานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งแม้ว่าบริษัทจะมีรายจ่ายการลงทุนที่ค่อนข้างมากในช่วงปี 2550-2552
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้แม้ว่าจะมีแผนการลงทุนในระดับสูงในระหว่างปี 2550-2552 ความกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและการจัดหาปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มเติมน่าจะได้รับการชดเชยได้บางส่วนจากราคาปิโตรเลียมที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะปรับตัวลดลงบ้าง ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านการเมืองจากโครงการที่บริษัทลงทุนในต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศ บริษัทมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว ณ เดือนธันวาคม 2548 สูงถึง 950 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อพิจารณาจากประมาณการการผลิตที่ระดับ 188,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันแล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. น่าจะสามารถนำมาผลิตใช้ได้นานถึง 14 ปี โดยที่ผู้ประกอบการระดับโลกมีค่าเฉลี่ยระหว่าง 10-15 ปี ณ สิ้นปี 2549 บริษัทมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 34 โครงการ โดย 10 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต และที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา ปตท.สผ. ก่อตั้งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2549 มีฐานะเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 66% โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย ในฐานะรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. จึงมักได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นแล้ว ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ปตท.สผ. จัดว่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ บริษัทมีต้นทุนเฉลี่ยในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 คิดเป็น 4.76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ประกอบการระดับโลก แม้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิต (Lifting Cost) ของบริษัทจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2547 เป็น 1.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2548 แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ประกอบการระดับโลกดังกล่าว ฐานะทางการเงินของ ปตท.สผ. ยังคงมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 บริษัทมียอดขายรวม 66,191 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.0% เมื่อ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2548 และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 29.6% เป็น 21,929 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเป็น 17.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 54.6 เท่าสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2549 ในขณะที่ยังคงมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายในระดับสูงที่ 70%-75% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
แผนการลงทุน 5 ปีของ ปตท.สผ. (2550-2554) ซึ่งจะใช้เงินทุนรวม 191,514 ล้านบาทนั้นสูงกว่าตัวเลขเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เนื่องมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นของโครงการอาทิตย์และแผนการผลิตปิโตรเลียมที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทที่ประมาณ 35,000-40,000 ล้านบาทต่อปีและเงินลงทุนที่ต้องการใช้อีกประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2550-2552 แล้ว บริษัทอาจจะต้องจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาทต่อปีซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องในระดับสูงจากการมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมทั้งสิ้นอีก 22,143 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ทริสเรทติ้งกล่าว