กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สมมช.
สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จัด “งานมหกรรมไหมไทย ปี2550” เตรียมดันไหมไทยสู่ตลาดโลก เชื่อมโยงกลุ่มประเทศในทะเลสาบแคสเบียนและเอเชียกลางในการเป็นพันธมิตรใหม่ด้านหม่อนไหม เพื่อสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตสินค้าไหมไทย กระตุ้นภาครัฐ สถาบันศึกษา และภาคเอกชนให้ความสนใจในการพัฒนาไหมไทยคุณภาพอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
ศ.ดร. ธีระ สูตะบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผ้าไหมไทยเป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ที่มีการผลิตมาช้านานควบคู่กับประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตเส้นไหมและผ้าไหม รายสำคัญของโลกรองจากจีนและอินเดีย โดยมีมูลค่าการส่งออกผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมปีละ 900 — 1,000 ล้านบาท และจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวอีกปีละประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกดังกล่าวยังไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีนและอินเดีย ดังนั้นลู่ทางในการขยายตลาดของไหมไทยยังมีความเป็นไปได้สูง ในการนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการของประเทศไทยที่จะพัฒนาขีดความสามารถเพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายตลาดไหมไทยในอนาตค
ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาสินค้าไหมภายในประเทศ ส่งเสริมและผลักดันให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นในตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จัด “งานมหกรรมไหมไทย ปี 2550” ขึ้น ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา รวมทั้งเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์ที่ดีของไหมไทยและผลิตภัณฑ์ไหมไทยไปสู่คนทั่วไป ส่งเสริมและขยายตลาดสินค้าไหมไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะมุ่งเน้นเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตสินค้าไหมไทย โดยสร้างระบบเชื่องโยงของเครือข่ายการผลิตและแปรรูปไหมไทยแบบครบวงจร ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิตเส้นไหม ผ้าไหม และผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ได้เกิดการพัฒนาคุณภาพและรูปแบบผ้าไหมและผลิตภัณฑ์หม่อนไหมอีกด้วย
ด้าน นายพีระพงศ์ เชาวน์เสฎฐกุล ผู้อำนวยการสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการที่ต้องการผลักดันสินค้าไหมไทยสู่ตลาดโลก โดยก่อนหน้านี้ได้จัดการประกวดเส้นไหม ผ้าไหม และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากรังไหมและผ้าไหม หลายประเภทได้แก่ การประกวดผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมประยุกต์ ผ้าไหมที่มีการย้อมสีธรรมชาติ รวมถึงมีการประกวดผลิตภัณฑ์ที่ทำจากรังไหมและผ้าไหม โดยจะมีการนำผลงานต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจัดแสดงใน “งานมหกรรมไหมไทย ปี 2550” ด้วย
ที่ผ่านมา ผ้าไหมของไทยได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคในตลาดยุโรป ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้บริโภคจะมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไหมไทย ในการนี้สถาบันฯ จึงให้ความสำคัญในการที่จะส่งเสริมและผลักดันผ้าไหมของไทยสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น โดยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และการเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรปและเอเชียกลาง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ มีการออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าสำหรับกลุ่มเกษตรกร/ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกผ้าไหมไทย รวมถึงการเจรจาธุรกิจการค้าด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับมุมมองทิศทางการตลาดผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทยในยุคการค้าเสรี โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาไหมไทยให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการให้ความรู้ในด้านหม่อนไหมในรูปแบบของการจัดนิทรรศการไหมไทย โดยแบ่งเป็น 5 ส่วน คือส่วนที่ 1 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กับการพัฒนาไหมไทย และตราสัญลักษณ์นกยูงพระราชทาน ส่วนที่ 2 ไหมไทยกับการบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ส่วนที่ 3 กระบวนการผลิตไหมไทยและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่วนที่ 4 การพัฒนาไหมและผลิตภัณฑ์ไหมไทยในอนาคต ส่วนที่ 5 จัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ชนะการประกวดจากทั่วประเทศ รวมถึงบูธสำหรับจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ซึ่งผู้ที่ซื้อผ้าไหมภายในงาน จะมีนักออกแบบให้คำแนะนำในการออกแบบตัดชุดให้ฟรีอีกด้วย
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดง การแสดง Fashion Show วิจิตรไหมในภาพยนตร์จากอลังการภาพยนตร์สุริโยทัย และนเรศวร ที่เป็นที่กล่าวขานถึงความสวยงาม และความพิถีพิถัน ในการจัดเตรียมชุดไหมสําหรับนักแสดง สัมผัสสุดยอดผลงานการออกแบบและตัดเย็บ รวมถึงการแสดง Fashion Show “My Style My Thai Silk” จากเลือดใหม่ ผู้เป็นอนาคตของวงการออกแบบไหมไทย เสื้อผ้าไหมไทยที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจําวัน รวมทั้งชิ้นงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ของวัฒนธรรมไหมไทยอันรุ่งโรจน์ สัมผัสผลงานจากฝีมือนักศึกษาจากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net