กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สป.
สภาที่ปรึกษาฯ ชี้แจงมีหน้าที่ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ไม่มีหน้าที่รับรองมาตรฐานของหน่วยงาน ฝากขอโทษประชาชนบางสะพาน และเตือนสหวิริยาไม่ควรประชาสัมพันธ์ข่าวโดยอ้างชื่อสภาที่ปรึกษาฯ
วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2550 ) สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) โดยประธานคณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ และประธานคณะทำงานสื่อสารกับสังคม นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อกรณีที่เครือบริษัท สหวิริยา ได้ตีพิมพ์ข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550 กรณีโรงงานถลุงเหล็กที่บางสะพานว่าสภาที่ปรึกษาฯ ยืนยันโรงงานได้มาตรฐานไม่กระทบสิ่งแวดล้อม
นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ กล่าวว่า ความเป็นมาของการเข้าไปตรวจเยี่ยมพื้นที่เครือสหวิริยาที่บางสะพานเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 สืบเนื่องมาจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง มีหนังสือถึง สป. เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 ขอให้ สป. ศึกษานโยบายการขยายอุตสาหกรรมเหล็ก ที่บางสะพาน โดยเฉพาะในเรื่องการอ้างเอกสารสิทธิ์ของเครือบริษัท สหวิริยา ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งชาวบ้านใช้สอยมาเป็นเวลานาน
สป. จึงได้เข้าไปศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งปรากฎว่าเครือบริษัท สหวิริยาไม่ได้เตรียมตอบข้อมูลเรื่องการได้มาซึ่งพื้นที่ดังกล่าว การนำชื่อของ สป.ไปรับรองมาตรฐานโรงงาน สป.รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และกลายเป็นการโยงให้ สป.ไปรับรองมาตรฐานของหน่วยงาน ซึ่งไม่ใช่บทบาทหน้าที่
นายวีรวัธน์ ได้ฝากขอโทษชาวบ้านที่บางสะพานและกล่าวว่ากรณีนี้ สป.ไม่มีส่วนรู้เห็นกับข่าวประชาสัมพันธ์ของเครือสหวิริยาแต่อย่างใด และฝากถึงเครือสหวิริยาว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการสร้างสรรค์ และส่อเจตนา หากเครือสหวิริยาเชื่อมั่นในความถูกต้องของตน ก็ไม่ควรดำเนินการในลักษณะราวกับมีสิ่งใดผิดพลาด
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กล่าวว่าการตีพิมพ์ข่าวประชาสัมพันธ์ของสหวิริยาในทำนองว่า สป.ยืนยันหรือรับรองว่าได้มาตรฐาน ไม่กระทบต่อกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบ อาจจะทำให้แต่ละฝ่ายระแวงซึ่งกันและกัน การทำประชาสัมพันธ์เช่นนี้เป็นความจงใจของบริษัท เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและอาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิดในบทบาทหน้าที่ของ สป.ในกรณีที่ สป.ไปลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริงรายอื่นๆ ต่อไปด้วย ในการนี้ สป.จะส่งหนังสือไปยังเครือสหวิริยา แจ้งให้ทราบต่อข้อกังวลของ สป.ต่อไป
นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สป.ว่ามีหน้าที่ให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี และวิธีการดำเนินงานของ สป. คือ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สป.จะมอบหมายให้คณะทำงานต่างๆ ไปศึกษาข้อเท็จจริง หลังจากนั้นจึงจะนำมาวิเคราะห์และจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อที่ประชุมกิจการสภาที่ปรึกษาฯ หลังจากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ทั้ง 99 คน ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ คนใดคนหนึ่งไม่สามารถพูดในนามของ สป.ทั้งหมดได้ โดยไม่ผ่านที่ประชุมของ สป.ก่อน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สภาที่ปรึกษาฯ
0-2-612-9222 ต่อ 118,119