Bualuang House View ตามติดสถานการณ์หนี้สาธารณะกรีซ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 21, 2011 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--บลจ. บัวหลวง ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ประเด็นสำคัญที่เข้ามามีผลกระทบต่อตลาดการเงิน ที่ส่งผลให้ค่าเงินยูโร/ดอลลาร์ปรับตัวผันผวนค่อนข้างมาก โดยยูโรอ่อนค่าปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 1.40 ยูโร/ดอลลาร์ และได้ปรับแข็งค่าขึ้นมาทะลุ 1.46 ยูโร/ดอลลาร์ ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 สัปดาห์ คงหนีไม่พ้นเรื่องความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเทศกรีซ ที่โดนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างต่อเนื่อง จากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ประมาณ 3.40 แสนล้านยูโร หรือ 150% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือปัจจุบันของกรีซอยู่ในระดับ "ขยะ" (Junk) โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 54 S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง 3 ขั้น สู่ "CCC" จาก "B" ซึ่งกรีซเป็นชาติแรกที่ถูก S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไปถึงระดับนี้ โดยตารางด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องจาก 3 สถาบันชั้นนำของโลกตั้งแต่เดือนเมษายน 53 จนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 54) ช่วงที่ผ่านมานั้น ตลาดเกิดความคลุมเครือและวิตกกังวลว่า กรีซจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเร็วๆ นี้ หรือต้องเกิดการปรับโครงสร้างทางการเงินหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟ ส่งผลให้ตลาดการเงินค่อนข้างผันผวนจากปัญหาค้างคาดังกล่าว แต่ความชัดเจนก็เริ่มปรากฏขึ้นให้ตลาดคลายความวิตกกังวลลงบ้าง เมื่ออียูและไอเอ็มเอฟระบุว่า กรีซจะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่ก็ต่อเมื่อรัฐบาลกรีซรักษาสัญญาเรื่องการออกมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม และการเร่งรัดการแปรรูปวิสาหกิจเป็นเอกชน โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือครั้งใหม่นี้จะนำมาใช้แทนที่มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบแรกที่มีวงเงิน 1.10 แสนล้านยูโรที่บรรลุข้อตกลงในปีก่อน ซึ่งทางด้านรัฐบาลกรีซคาดว่า รัฐสภาจะลงมติ ต่อร่างกฎหมายปรับลดงบประมาณรายจ่ายระยะกลางภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ แต่จากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือล่าสุดโดย S&P นั้น ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลของกรีซ ที่กำลังพยายามผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเช่นกัน และต้องเผชิญกับการคัดค้านของประชาชนอย่างหนัก ซึ่งจะมีการจัดประท้วงใหญ่ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ นอกจากนี้ คงต้องรอความชัดเจนเพิ่มเติมในการประชุมสุดยอดในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ ที่ผู้นำอียูจะหารือกันเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่ เนื่องจากในช่วงนี้ผู้นำประเทศสมาชิกอียูและอีซีบียังมีความเห็นขัดแย้งกัน โดยอีซีบีคัดค้านการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้กรีซ ขณะที่เยอรมนีและบางประเทศในยุโรปคัดค้านการให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กรีซ นอกจากว่าเจ้าหนี้เอกชนจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือกรีซด้วย จึงจะเห็นได้ว่า ในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อตลาดการเงินค่อนข้างมาก ทั้งจากความชัดเจนว่ากรีซจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่อย่างไร กรีซจะออกมาตรการรัดเข็มขัดมาได้หรือไม่ รวมทั้งการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณรอบ 2 (QE2) ของสหรัฐฯ และแนวโน้มที่จะมีการออกมาตรการอื่นๆ ออกมาต่อหรือไม่ จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ รวมถึง ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย Disclaimer : ข้อมูลในเอกสารนี้ รวบรวมจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ บลจ.บัวหลวง ไม่สามารถยืนยันหรือรับรองความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว และไม่ว่ากรณีใด บทวิเคราะห์ในเอกสารนี้ มิได้เป็นการชี้นำในการตัดสินใจ หรือโฆษณาการดำเนินธุรกิจของบริษัท การตัดสินใจใดๆ ของผู้อ่าน ล้วนเป็นการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน ซึ่ง บลจ. บัวหลวง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ