กรุงเทพธุรกิจ ผนึกกำลังศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. กู้วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก"

ข่าวทั่วไป Tuesday June 21, 2011 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. และ สถาบัน CEDI จัดสัมมนา "วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก" หวังเสนอข้อเท็จจริง ผลกระทบ และเตรียมความพร้อมในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และพลังงานของประเทศในอนาคต ผ่านไปด้วยดีสำหรับงานสัมมนา "วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก" จัดโดยบริษัท กรุงเทพธุรกิจมีเดีย จำกัด ร่วมกับ ศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (CEDI) ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหาร และพลังงานเข้าร่วมฟังการสัมมนาเป็นจำนวนมาก นางสาวดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธุรกิจมีเดีย จำกัด กล่าวถึงงานครั้งนี้ว่า การจัดสัมมนา "วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก" มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลกระทบต่อการผลิตอาหารและพลังงานในอนาคต เนื่องจากกระแสความตื่นตัวในพลังงานทดแทนเพื่อแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนมีมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาทำให้พืชพลังงาน และพืชน้ำมันมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรมจากการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานแทน จนกระทั่งเกิดความไม่สมดุลของสถานการณ์ด้านอาหาร และอาจเกิดวิกฤตขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น จึงหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมหาแนวทางป้องกันทั้งเชิงรุก และเชิงรับบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ตลอดจนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร พลังงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรต่อไปในอนาคต เวทีสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ กล่าวเปิดงาน พร้อมพูดถึงคุณค่าของการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนว่า ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนที่ตระหนักถึงสถานการณ์วิกฤติการขาดแคลนอาหาร และพลังงานของโลก สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในด้าน “การสร้างสมดุล และมั่นคงของอาหาร และพลังงาน” ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 อันเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์ด้านอาหารของไทยจะสามารถผลิตสินค้าเกษตร และอาหารมีปริมาณพอเพียงกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และมีเหลือส่งออกสร้างรายได้แล้ว แต่การที่ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืช ทำให้มีความต้องการพืชที่สามารถนำไปผลิตพลังงานเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรจากการปลูกพืชอาหารมาเป็นพืชพลังงานมากขึ้นนั้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตอาหาร และเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหาร และพลังงานของประเทศได้ในอนาคต “เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารขึ้น กระทรวงเกษตร และสหกรณ์จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการความมั่นคงด้านอาหารขึ้น เพื่อส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และพอเพียงกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืน” นายเฉลิมพร กล่าว ภายในงานยังมีการปาฐกถาพิเศษโดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบัน SIGA เรื่อง “ความท้าทายของโลกอนาคต” และ นายฮิโรยูกิ โคนุม่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการและตัวแทนภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Bio Fuel and Food Security” ปิดท้ายด้วยการเสวนา "วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก" จากวิทยากรภาครัฐ และเอกชน นำโดย นายทวีป พิมเสน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญพิเศษ สำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพโทรกรีน จำกัด ในกลุ่มน้ำตาลมิตรผล นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมี นายวิเชฐ ตันติวานิช กรรมการ ธ.ก.ส.และประธานกรรมการบริหาร สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์(CEDI) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นผู้ดำเนินรายการ “การจัดสัมมนา วิกฤติพืชอาหาร บนกระแสพลังงานทางเลือก ต้องการสร้างกระแสความนิยมให้คนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรกันมากขึ้น และสร้างเครือข่ายความรู้ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการด้านการเกษตร ตลอดจนได้มีการนำเสนอผลดี ผลเสีย เรื่องอาหาร และพลังงานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมทั้งวิเคราะห์เป้าหมาย และหาแนวทางร่วมกันระหว่างความสัมพันธ์พืชอาหารกับพืชพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ได้ต่อไป” นายลักษณ์ กล่าวปิดท้าย หวังให้การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมหาแนวทางป้องกันบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ตลอดจนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหาร พลังงานได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นข้อคิด และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายด้านเกษตรต่อไปในอนาคต ออกข่าวในนาม : ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ