กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กรมสรรพสามิต
รศ.ดร.พิสิฐ โชว์วิสัยทัศน์ต่อหน้าขรก.สรรพสามิต ย้ำห่วงการเมืองไม่มั่นคง ทำทุนต่างชาติหนีซบเพื่อนบ้านอาเซียน แนะพรรคการเมืองชูนโยบายพัฒนาคุณภาพแรงงานควบคู่ขึ้นค่าจ้าง
รศ.ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก” ในโครงการสัมมนาวิชาการเรื่องวิธีประมาณการรายได้ ภาษีสรรพสามิต รายภาคและรายพื้นที่สำหรับผู้บริหารครั้งที่ 1 ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ว่า หลังจากที่นานาประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2550-2551 (ค.ศ.2007-2008) และกลับมาฟื้นตัวในปี 2552-2553 (ค.ศ.2009-2010) ซึ่งการฟื้นตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ค.ศ.2011)กลับมีความเลวร้ายมากขึ้นทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลและห่วงใยภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“แม้จะเริ่มมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่สำหรับประเทศ Advance Economy อย่างเช่น สหรัฐ-ญี่ปุ่น-ยุโรป กลับฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น จีน และ รัสเซีย ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีผลพวงมาจากการใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ต้องการตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่าจะรับฟังการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์” รศ.ดร.พิสิฐ กล่าว
สำหรับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยว่า อดีต รมช.คลัง กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แต่หลังจากยุติเหตุการณ์ชุมนุมที่ราชประสงค์แล้ว ประเทศไทยกลับมามีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อปีที่แล้วภาวะตลาดหุ้นไทยกลับมาขยายตัวได้ดีที่สุด
“ประเทศไทยยังคงโดดเด่นในเรื่องการส่งออก ทั้งด้านสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ทำให้ปัญหาการว่างงานของไทยไม่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตระบบการเมืองยังไม่มั่นคง ก็อาจทำให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซียและเวียดนามแทนได้” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าว พร้อมกับฝากแสดงความห่วงใยไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังชูนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราค่าจ้าง-ค่าครองชีพ รวมถึงเงินเดือนข้าราชการว่า ควรจะเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงานเพื่อสร้างคุณภาพแรงงานให้ได้มาตรฐานควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในระยะยาว.