กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สพฐ.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดการประกวด “โครงการใช้หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เพื่อจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน” ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงต้องการให้เยาวชนไทยมีนิสัยรักการอ่าน เห็นคุณค่าในการใช้ประโยชน์จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายในการพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนให้เป็นห้องสมุด 3 ดี คือ หนังสือและสื่อดี, บรรยากาศดี และครูบรรณารักษ์ดี ในส่วนของหนังสือดี ได้กำหนดให้ทุกโรงเรียนต้องมีหนังสือสารานุกรมไทยสาหรับเยาวชนฯ ไว้ในห้องสมุด ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่นักเรียนจะได้รับจากการอ่านหนังสือ
คุณอุษณีย์ วัฒนพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “การดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลบรมราชาภิเษกปีที่ 61 และเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาและส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษานำหนังสือสารานุกรมไทยสาหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โดยกระตุ้นให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน เห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากหนังสือสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนฯ มากขึ้น
สำหรับในรอบตัดสิน โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 20 โครงการจะได้รับเงินสนับสนุนโครงการทีมละ 2,000 บาท และร่วมกิจกรรมเข้าค่ายเพื่อนำเสนอโครงการให้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกทีมผู้ชนะเลิศต่อไป ซึ่งในระดับประถมศึกษามีทีมที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 10 โรงเรียน คือ โรงเรียนอนุบาลพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์, โรงเรียนสันคะยอม, โรงเรียนหนองตะครอง, โรงเรียนหนองจิก, โรงเรียนปากจาบวิทยา, โรงเรียนบ้านดอนสูง, โรงเรียนวัดทศทิศ, โรงเรียนวัดอรุณรังสี,โรงเรียนสันป่าตอง, โรงเรียนวัดแสลง และระดับมัธยมจำนวน 9 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดบ้านสร้าง,โรงเรียนศรีมหาโพธิ์, โรงเรียนทุ่งกะโล่วิทยา, โรงเรียนชุมแพพิทยาคม, โรงเรียนเรณูนครวิทยาคม,โรงเรียนนาวังศึกษาวิช, โรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม, โรงเรียนวัดถนน และโรงเรียนนารีนุกูล 2”
อาจารย์จิตตรา สอนดา ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเรณูวิทยานุกูล จ.นครพนม หนึ่งในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศกล่าวถึงโครงการฯในครั้งนี้ว่า “โรงเรียนเรณูวิทยาฯ ได้มีการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนนำสารานุกรมที่มีอยู่ในโรงเรียนมาใช้ในการอ่าน การทำกิจกรรม และการค้นคว้าหาความรู้มาโดยตลอด ซึ่งหนังสือสารานุกรมในสมัยก่อนมีรูปเล่มที่ใหญ่และหนา เด็กๆ จึงไม่ให้ความสำคัญในการอ่านเท่าที่ควร ทั้งที่จริงแล้วสารานุกรมมีเนื้อหาและรายละเอียดที่มีความสำคัญทั้งสิ้น ทางโรงเรียนจึงได้จัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการนำเนื้อหาสาระในหนังสือมาปรับเป็นกิจกรรมการค้นคว้า 9 กิจกรรม คือ ไปรษณีย์ส่งความรู้ถึงเพื่อน, ตระกร้าหนังสือสัญจร, ห้องสมุดทางอากาศ, วางทุกงานอ่านทุกอย่าง, ประกวดหนังสือเล่มเล็ก,การแข่งขันประดิษฐ์ที่คั่นหนังสือแสนสวย, การแข่งขันประกวดตอบคำถามสารานุกรมไทย, การแข่งขันเรียงความ และการจัดมุมหนังสือสารานุกรมไทย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ได้รับความร่วมมือจากคุณครูและเด็กนักเรียนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ คุณครูทุกท่านก็ได้มีการปรับเอาเนื้อหาจากหนังสือสารานุกรมไทยมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในชั้นเรียนอีกด้วย” อาจารย์จิตตรา กล่าว
คุณครูแสงเดือน ทูลยอดพันธ์ ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดหนองจิก กล่าวว่า “ทางโรงเรียนมีหลักการพิเศษในการนำสารานุกรมมาปรับใช้ในการเรียนการสอน คือ หลักการ 6+1 ซึ่งมาจากในแต่ละวันหลังจากที่นักเรียนมาถึงโรงเรียน นักเรียนทุกคนจะได้ร่วมกิจกรรม โดยเริ่มจาก 1. เริ่ม 2. เสริม 3. เติม 4. ย้ำ 5. ซ้ำ 6. ทวน และบวกตรวจสอบมอบรางวัล ซึ่งเป็นการสอนให้นักเรียนได้จดจำคำศัพท์ภาษาไทย ตลอดจนเพิ่มทักษะในการอ่านและการค้นคว้า นอกจากนี้ คุณครูทุกท่านยังนำเนื้อหาในหนังสือมาใช้ในการเรียนการสอนอีกด้วย และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของโรงเรียนวัดหนองจิกที่ได้นำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงต้องการให้เยาวชนไทยได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน” คุณครูแสงเดือนกล่าวทิ้งท้าย
หลังจากได้ร่วมทำกิจกกรรมมาตลอดระยะเวลา 3 วัน ก็ได้ทีมชนะเลิศในระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนบ้านดอนสูง กับโครงการวิเคราะห์หนังสือสารานุกรมไทยสู่การเรียนรู้ และในระดับมัธยมศึกษา คือ โรงเรียนทุ่งกะโล่วิทยา กับโครงการพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียนโรงเรียนทุ่งกะโล่วิทยา โดยใช้หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้ง 2 ทีมได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และพร้อมทุนการศึกษา 30,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนสันป่าสักวิทยา กับโครงการ สารานุกรมอุดมปัญญา เฉลิมฉลอง 84 พรรษา องค์ราชาของแผ่นดิน ระดับมัธยมศึกษา คือ โรงเรียนนารีนุกูล 2 กับโครงการส่งเสริมการอ่านด้วยสารานุกรมไทย โดยได้รับโล่รางวัล พร้อมทุนการศึกษา15,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนวัดแสลง (เขมราษฎร์วิทยาคาร) กับโครงการเส้นทางเรียนรู้...สู่สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ระดับมัธยมศึกษา คือ โรงเรียนวัดบ้านสร้าง กับโครงการบ้านสร้างส่งเสริมนิสัย รักการอ่านด้วยหนังสือสารานุกรมไทย โดยได้รับโล่รางวัล พร้อมทุนการศึกษา 12,000 บาท
รางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยมระดับประถมศึกษา คือ โรงเรียนวัดแสลง (เขมราษฎร์วิทยาคาร) กับโครงการ เส้นทางเรียนรู้สู่สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน และในระดับมัธยมศึกษา คือ โรงเรียน นาวังศึกษาวิช กับโครงการต้นกล้าพาน้องอ่าน โดยได้รับโล่รางวัล พร้อมทุนการศึกษา 12,000 บาท ทุกโรงเรียนที่เข้าแข่งขันจะได้รับเกียรติบัตรจากโครงการสารานุกรมไทย และนักเรียนจะได้รับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับส่งเสริมการเรียนรู้ คนละ 1 ชุด นอกจากนี้ทุกโรงเรียนจะต้องส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2554 และประกาศรางวัล “การเขียนรายงานยอดเยี่ยม” ระดับประถมและมัธยมศึกษา จำนวน 1 รางวัล ซึ่งจะได้รับโล่รางวัล และทุนการศึกษาอีก 12,000 บาท โดยจะทำการประกาศผลทางเว็บไซต์ http://academic.go.th และ http://kanchanapisek.or.th/kp6