กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมบัญชีกลาง
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตภาครัฐ (Collective Action) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 กรมบัญชีกลางได้จัดการประชุมแนวร่วมปฏิบัติการต่อต้านทุจริตภาครัฐ (Collective Action) เพื่อเป็นการต่อยอดจากการสัมมนา เรื่อง ต่อต้านคอร์รัปชั่น...จุดเปลี่ยนประเทศไทย ของหอการค้าไทยร่วมกับภาคีเครือข่าย 22 องค์กร โดยผลของการจัดสัมมนา 4 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชน กลุ่มองค์กรวิชาชีพ กลุ่มภาคเอกชน และกลุ่มภาครัฐ แสดงให้เห็นว่า ควรมีการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างค่านิยมในการต่อต้านการทุจริต และควรมีการส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความเป็นรูปธรรม โดยสามารถแสดงถึงความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ความโปร่งใส (Corruption Perception Index: CPI) ของประเทศไทยที่วัดโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ที่อันดับ 78 ในปัจจุบันให้ดีขึ้น
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะเพื่อพิจารณาแนวทางในการคัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่มีมูลค่าเหมาะสม เพื่อให้เข้าร่วมในโครงการแนวร่วมปฏิบัติฯ อันจะเป็นการเตรียมความพร้อม และเป็นข้อมูลประกอบการนำเสนอรัฐบาลพิจารณากำหนดเป็นนโยบายต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุม ได้กำหนดแนวทางความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหอการค้าไทยจะรับหน้าที่ประสานงานกับกลุ่มเยาวชนและองค์กรวิชาชีพ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยรับหน้าที่ประสานงานกับภาคเอกชน และกระทรวงการคลังทำหน้าที่ประสานงานในส่วนของภาครัฐ ทั้งนี้ เมื่อโครงการ Collective Action ได้ดำเนินการแล้ว จะสามารถช่วยลดการทุจริตของภาครัฐ รวมทั้งส่งเสริมให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความโปร่งใสมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างมาตรฐานระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล ประมวลผลข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกรมบัญชีกลางในการพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“สำหรับการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงบประมาณ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูประถัมภ์ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และธนาคารโลก (World Bank)” นายอารีพงศ์ กล่าว
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกฎหมาย ระเบียบ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทางงกรมบัญชีกลางมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมและมีระบบการตรวจสอบจากประชาชนได้