ศูนย์เตือนภัยฯ จับมือ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ฝึกซ้อมการเตือนภัยสาธารณภัยแบบบูรณาการ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 22, 2011 14:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--ก.ไอซีที นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกซ้อมการเตือนภัยสาธารณภัยแบบบูรณาการ ตามโครงการฝึกซ้อมแผนการเตือนภัย และการสื่อสารในภาวะวิกฤตเพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญกับภัยพิบัติธรรมชาติ ว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดทำโครงการสร้างองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติแก่ประชาชนขึ้น ตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (กภช.) และนโยบายบริหารของรัฐบาล เรื่องการมีส่วนร่วมภาคประชาชนและองค์กรเอกชนในด้านการเตือนภัย โดยมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน รวมทั้งทำความเข้าใจและประสานงานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อป้องกันความสับสนในการปฏิบัติเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเตือนภัยอีกทางหนึ่ง “ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ภัยจากธรรมชาติจึงมีความรุนแรงและเกิดถี่มากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างเกินกว่าที่ประชาชนจะคาดการณ์และเข้าใจได้ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มีความยุ่งยากและซับซ้อนตามไปด้วย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ ศภช. จะต้องดำเนินการด้านการสร้างองค์ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงด้านประสานการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานในกระบวนการป้องกันและรับมือกับสาธารณภัย โดย ศภช. ได้ประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จัดให้มีการฝึกซ้อมการเตือนภัยสาธารณภัยแบบบูรณาการขึ้น ณ เขตความรับผิดชอบของศูนย์ป้องกันฯ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ความรู้และทำความเข้าใจในการทำงานเกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยแก่เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาชิก อบจ. อบต. ทหาร และตำรวจ ในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมและฝึกซ้อมสามารถนำไปขยายความรู้ และทำความเข้าใจกับประชาชนอีกต่อหนึ่ง” นายธานีรัตน์ กล่าว สำหรับการฝึกซ้อมการเตือนภัยสาธารณภัยแบบบูรณาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านภัยพิบัติธรรมชาติ ได้แก่ วาตภัย อุทกภัย ดินโคลนถล่ม คลื่นพายุซัดฝั่ง แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ (สึนามิ) ไฟป่า แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งเพื่อให้ความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์ และระบบการแจ้งเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบการใช้อุปกรณ์เตือนภัย และประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนเพื่อประสานงานและบูรณาการแผนงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานสถิติจังหวัด สำนักงานอุตุนิยมวิทยา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพตามนโยบายการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบแผนและการจัดการข่ายสื่อสารหลัก รวมถึงข่ายสื่อสารสำรองในกรณีที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพื่อจัดทำข้อกำหนดและคู่มือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละกรณีการฝึกซ้อมฯ และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม ฝึกซ้อม ได้สำรวจความพร้อมของตนในการเผชิญภัย และสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกซ้อมไปใช้เมื่อเกิดภัยได้ ตลอดจนเพื่อทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่รับผิดชอบอีกด้วย “การฝึกซ้อมการเตือนภัยฯ ครั้งนี้ ได้เชิญบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา อาสาสมัคร มูลนิธิ และประชาชน ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 200 คน เข้าร่วมการอบรมให้ความรู้ด้านภัยพิบัติ ระบบการแจ้งเตือนภัย และแนะนำอุปกรณ์เครื่องมือการเตือนภัย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้เกี่ยวข้องเรื่องระบบการเตือนภัย การติดต่อสื่อสาร การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนร่วมฝึกซ้อมการปฏิบัติการจริงในภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) ด้านระบบการแจ้งเตือนภัย การสื่อสาร และการอพยพผู้ประสบภัยจากดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว อุทกภัย คลื่นพายุซัดฝั่ง คลื่นยักษ์ (สึนามิ) วาตภัย ไฟป่า โดยจำลองสถานการณ์ เสมือนจริง ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมและฝึกซ้อม มีความพร้อมเมื่อเกิดภัย และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เมื่อเกิดภัยได้ รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ว่าอุปกรณ์เตือนภัยสามารถใช้งานได้ปกติ และเมื่อเกิดภัยพิบัติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานงานและบูรณาการแผนงานระหว่างหน่วยงานให้สอดคล้องเป็นไปตามนโยบายเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาลได้ นอกจากนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารขึ้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ก็สามารถบริหารจัดการข่ายสื่อสารหลัก และข่ายสื่อสารสำรองให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย” นายธานีรัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ