กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมสรรพสามิต
กรมสรรพสามิตจัดสัมมนาวิชาการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการประมาณการรายได้ภาษีสรรพสามิตรายภาคและรายพื้นที่ของข้าราชการกรมฯ ทั่วประเทศพร้อมแถลงนโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อสิ่งแวดล้อม
กรมสรรพสามิตจัดสัมมนาวิชาการวิธีประมาณการรายได้ภาษีสรรพสามิตรายภาคและรายพื้นที่ สำหรับผู้บริหาร หวังเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และประมาณการรายได้ภาษีสรรพสามิตให้แก่ผู้บริหาร จากทั่วประเทศ พร้อมแถลงนโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ณ ห้องควีนส์ ปาร์ค 5 โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20-22 มิถุนายน ศกนี้
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า “เนื่องจากรายได้ภาษีสรรพสามิตเป็นรายได้หลักและสำคัญของประเทศ คิดเป็น 21% ของรายได้รวมของรัฐบาล การจัดทำประมาณการรายได้ภาษีสรรพสามิตในแต่ละปีจึงมีความสำคัญต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาล ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานสรรพสามิตภาค และสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศมีส่วนร่วม ในการจัดทำประมาณการรายได้ภาษีสรรพสามิต ดังนั้น การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการประมาณการรายได้ภาษีสรรพสามิต จึงมีผลทำให้การคาดการณ์รายได้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้กรมสรรพสามิตกำหนดนโยบายภาษีและการบริหารการจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 กรมสรรพสามิตได้แต่งตั้งข้าราชการประเภท ผู้อำนวยการระดับสูง จำนวน 56 พื้นที่ทั่วประเทศ ดังนั้น จึงถือได้ว่าการอบรมครั้งนี้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่สรรพสามิตพื้นที่ที่ดำรงตำแหน่งใหม่จาก ทั่วประเทศ”
อธิบดีกรมสรรพสามิต ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สืบเนื่องมาจากการประมาณการรายได้ภาษีสรรพสามิตในปีที่ผ่านๆ มานั้น มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยสาเหตุและปัญหาอุปสรรคต่างๆ อาทิ ข่าวลือการขึ้นภาษีสรรพสามิต ปัญหาภัยธรรมชาติ ภาวะเศรษฐกิจ การลักลอบนำเข้าสินค้า ฯลฯ ตลอดจนตัวแปรต่างๆ ในเชิงเทคนิคของกระบวนการประมาณการรายได้ ทั้งปัญหาการเข้าถึงแหล่งข้อมูล ความแตกต่างในด้านภูมิศาสตร์ การบริหารฐานข้อมูล การวิเคราะห์สถานการณ์ ฯลฯ ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงได้ร่วมกับ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท HR Expertise จัดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “วิธีประมาณการรายได้
ภาษีสรรพสามิตรายภาคและรายพื้นที่ สำหรับผู้บริหาร ครั้งที่ 1” : Excise Tax Forecasting in Regions and Provincial Areas (Executive Session) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การคาดการณ์รายได้ภาษีสรรพสามิตรายภาคและรายพื้นที่มีความน่าเชื่อถือตามหลักสถิติ และใกล้เคียงกับรายได้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้จริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาตัวแปรที่มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรายสินค้าในแต่ละภาคและพื้นที่ ซึ่งมีการใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ หรือที่เรียกว่า Econometric Model ช่วยในการตัดสินใจด้วย”
นอกจากนั้น อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้แถลงนโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยภาษีสรรพสามิตเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นการจัดเก็บภาษีตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) ซึ่งจัดเก็บสินค้าที่ก่อมลพิษในอัตราที่สูงกว่าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ทั้งนี้ ในอดีต กรมสรรพสามิตเคยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วสูงกว่าน้ำมันเบนซินที่ไม่มีสารตะกั่ว และกรมสรรพสามิตได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสารทำลายชั้นบรรยากาศ หรือสาร ทำความเย็น ประเภท CFC ดังนั้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่สำหรับกรมสรรพสามิตแต่อย่างใด เพียงแต่กรมสรรพสามิตได้ทบทวนแนวนโยบายภาษีสรรพสามิตเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต หากรัฐนำกลไกทางภาษีเพื่อชี้นำและสะท้อนต้นทุนทางสังคมแล้ว จะ ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันเชิงสิ่งแวดล้อม (Green Competitiveness) และยังเป็นการส่งเสริมฐานะทางการ คลังที่ยั่งยืน (Fiscal Sustainability) โดยกรมสรรพสามิตจะดำเนินการปรับปรุงกฎหมายภาษีสรรพสามิต พร้อม นำหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) มาใช้” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้าย