ม.อ.ปัตตานี เผยผลสำรวจความเห็น 3 จังหวัดชายแดนใต้ เน้นเลือกพรรคที่นโยบายใช้ได้จริง จี้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพ

ข่าวทั่วไป Thursday June 23, 2011 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ม.อ.ปัตตานี ทำโพลสำรวจการเลือกตั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ OEC Poll เผยประชาชนเทคะแนนให้พรรคประชาปัตย์ร้อยละ 35.4 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 21.6 ขณะที่ร้อยละ 69.4 ของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ชื่นชอบไว้แล้ว โดยดูจากนโยบาย ความโปร่งใส ไม่คดโกงและสามารถนำไปใช้ได้จริง พร้อมอยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาด้านค่าครองชีพ ว่างงานและเหตุการณ์ความไม่สงบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสถียร แป้นเหลือ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ OEC Poll โดยสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในและนอกเขตเทศบาล จำนวน 3,000 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 13 — 19 มิถุนายน 2554 โดยกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 89.4 ศาสนาพุทธร้อยละ 10.5 และศาสนาคริสต์ ร้อยละ 0.1 ส่วนอาชีพของกลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาร้อยละ 25.7 ข้าราชการร้อยละ 22.7 อาชีพชาวสวนร้อยละ 15.1 อาชีพรับจ้างร้อยละ 14.0 อาชีพชาวนาร้อยละ 6.5 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 4.3 อาชีพแม่บ้าน 3.7 อาชีพอื่นๆ ร้อยละ 8.0 จากการสำรวจในภาพรวม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.1 สนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองระดับปานกลาง โดยมีผู้ไม่สนใจติดตามข่าวสารทางการเมืองเลยร้อยละ 3.7 ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 98.9 ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง และอีกร้อยละ 1.1 ไม่ไปเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา มีประชาชนไปใช้สิทธิ์ร้อยละ 75.2 ในจำนวนนี้ร้อยละ 69.4 ตัดสินใจเลือกผู้สมัครและพรรคการเมืองไว้แล้ว ส่วนร้อยละ 30.6 ยังไม่ตัดสินใจ ผลการสำรวจพบว่า พรรคการเมืองที่ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการให้เป็นรัฐบาลมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 35.4 พรรคเพื่อไทยร้อยละ 21.6 พรรคมาตุภูมิร้อยละ 8.3 พรรคภูมิใจไทยร้อยละ 4.8 และพรรครักประเทศไทย ร้อยละ 2.1 ส่วนช่องทางในการติดตามข่าวสารทางการเมือง ประชาชนติดตามข่าวสารทางการเมืองจากสื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 78.8 ติดตามจากสื่อวิทยุ ร้อยละ 7.7 ติดตามจากเพื่อน/ญาติสนิท ร้อยละ 4.8 ติดตามจากสื่อหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 3.2 ติดตามจากการพูดคุยในร้านน้ำชา ร้อยละ 3.0 ติดตามข่าวสารจากมัสยิด ร้อยละ 2.1 และ ติดตามจากหอกระจายข่าวหมู่บ้าน ร้อยละ 0.3 ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ในการตัดสินใจเลือกในครั้งนี้ หากเรียงตามลำดับจากมากที่สุดแล้ว ปรากฎว่า ประชาชนพิจารณาจาก ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ความรู้ความสามารถ นโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัด ความเป็นผู้นำ ความเสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวมมาตลอด และความชื่นชอบเป็นการส่วนตัว ส่วนเกณฑ์ที่ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ใช้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในครั้งนี้ หากเรียงตามลำดับจากมากที่สุดแล้ว ปรากฏว่า ประชาชนพิจารณาจากนโยบายที่มีรูปธรรม สามารถนำไปใช้ได้จริง มีความตั้งใจ จริงใจ ในการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความเข้าใจและรับฟังปัญหาของประชาชน ช่วยเหลืออย่างจริงจัง ความมีอุดมการณ์ที่แน่นอนมั่นคง ความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง มีความโปร่งใสในการทำงาน สำหรับปัญหาที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขหลังเลือกตั้งมากที่สุด เรียงตามลำดับคือ ปัญหาเรื่องรายได้ และค่าครองชีพ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความไม่สงบ ปัญหาด้านการศึกษาและปัญหายาเสพติด เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร: 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail : c_mastermind@hotmail.com หรือ kongwong91@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ