“กรมบัญชีกลาง” พิจารณาหาข้อสรุปกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม (กลูโคไซมีน)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 24, 2011 15:54 —ThaiPR.net

Bangkok--24 Jun--กรมบัญชีกลางกรมบัญชีกลาง” จัดประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิผลและความคุ้มค่าของกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม พร้อมนำผลการประชุมเสนอคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ พิจารณาต่อไป นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากมติของคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ที่มีรองปลัดกระทรวงการคลัง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ) เป็นประธาน ได้มอบให้กรมบัญชีกลางแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลและความคุ้มค่าของการใช้ยาบรรเทาอาการ ข้อเสื่อม กรมบัญชีกลางจึงได้เสนอแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับประสิทธิผลและความคุ้มค่าของกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์เป็นที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม องค์การเภสัชกรรม ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อพิจารณาศึกษาทบทวนเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับประสิทธิผลและความคุ้มค่าของกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อม ให้เกิดความชัดเจนและ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อม ภายใน 1 เดือน ซึ่งได้มีการประชุมแล้วเมื่อวันพุธที่ 22 มิถุนายน 2554 นายรังสรรค์ กล่าวว่า สำหรับผลการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ที่มีตนเป็นประธานนั้น ได้มีการพิจารณาถึงประสิทธิผลของกลุ่มยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมว่า สามารถรักษาอาการของผู้ป่วยได้หรือไม่ และมีความคุ้มค่าจากการใช้ยาดังกล่าวหรือไม่ โดยพิจารณาทั้งจากผลงานวิจัยต่างๆ จากการรักษาจริงของแพทย์ และจากผู้ป่วย และได้มีมติที่มีความเห็นร่วมกัน อยู่ 4 ประเด็น คือ 1. กลุ่มยากลูโคซามีน มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในบางกลุ่ม เท่านั้น 2. การให้ใช้ยาที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายจะต้องมีการกำหนดแนวเวชปฏิบัติ คือ มีเงื่อนไขข้อบ่งชี้ และระยะเวลาในการใช้ยา ซึ่งตามแนวปฏิบัติบริการดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ. 2553 ของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย คือ ไม่ให้ใช้ ในการป้องกันข้อเสื่อม แต่ให้ใช้ยาในช่วงแรก 3 เดือน แล้วประเมินผลการรักษาว่าผู้ป่วยให้การตอบรับการใช้ยาหรือไม่ หากอาการดีขึ้นก็ให้ใช้ต่อจนถึง 6 เดือน แล้วหยุดยา แต่หากรายใดประเมินผลจากการใช้ยาแล้ว 3 เดือน ไม่ดีขึ้นก็ให้หยุดการใช้ยาเลย จึงมอบหมายให้กรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานกลางประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แพทยสภา และราชวิทยาลัยแพทย์ออโธปิดิกส์ประชุมร่วมกันศึกษาความคุ้มค่าฯ และวางแนวทางการบริหารจัดการ การควบคุมกำกับการใช้ยา ที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 3. เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงควรมีการศึกษาข้อมูลทางวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ในการปรับปรุงแนวเวชปฏิบัติให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และเป็นปัจจุบัน 4. ต้องวางระบบบริหารจัดการ และกำกับดูแลการใช้ยากลุ่มดังกล่าว เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสมคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ “ในการประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการหลายท่านและทางกรมบัญชีกลาง เห็นว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเดือดร้อนของข้าราชการและครอบครัว และไม่เป็นการริดรอนสิทธิของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริง ๆ ที่ได้รับการรักษาโดยใช้ยากลูโคซามีนแล้วทำให้อาการดีขึ้น จึงให้มีการเบิกค่ายานี้ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบ่งชี้ที่ราชวิทยาลัยแพทย์ออโธปิดิกส์แห่งประเทศไทยกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้ยา ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับ คณะอนุกรรมการจากแพทยสภา สมาคมข้าราชการพลเรือน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยเรื่องนี้จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่มีรองปลัดกระทรวงการคลัง (นางสาวสุภา ปิยะจิตติ) เป็นประธาน พิจารณาต่อไป” นายรังสรรค์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ