กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--TK park
เมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนา “บรรณารักษ์” บุคลากรสำคัญของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้และบ้านหนังสือ และปรับปรุงพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ หวังกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนในชุมชน เพื่อขับเคลื่อนให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” อย่างแท้จริงตามนโยบายของกทม.
นายสมศักดิ์ จันทวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ‘การอ่าน’ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพของคนในประเทศ การผลักดันให้กรุงเทพมหานครเป็น “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” และการเสนอชื่อกรุงเทพมหานครเข้าแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก หรือ World Book Capital ในปี ค.ศ. 2013 กับทางยูเนสโกนั้น เป้าหมายหลักคือ การสร้างวัฒนธรรมการอ่านของคนกรุงเทพฯ แต่การที่ กทม.จะลุกขึ้นมาทำเรื่องการอ่านเพียงลำพังนั้นคงไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องฯ
TK park ถือเป็นภาคีเครือข่ายหนึ่งที่มีบทบาทและกิจกรรมที่เข้มแข็งในการส่งเสริมการอ่าน ฉะนั้น การนำกิจกรรมและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตต้นแบบของ TK park มาเชื่อมโยงกับกิจกรรมของกทม.จะเป็นการเพิ่มพลังและเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น
“ การจะเป็นมหานครแห่งการอ่านฯ นอกจากจะต้องมีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย รูปแบบห้องสมุดที่หลากหลาย และพื้นที่ที่กระจายเข้าถึงชุมชนแล้ว “บรรณารักษ์” ยังถือเป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนการอ่าน เพราะเป็นคนแรกของห้องสมุดที่จะสร้างบรรยากาศการอ่านที่ดี การให้คำแนะนำต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาใช้บริการ รวมถึงการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เพราะห้องสมุดมีชีวิต จะต้องมีความเคลื่อนไหว ไม่ใช่การอ่านอย่างคร่ำเคร่ง แม้เราพัฒนาห้องสมุดมาตลอด แต่การได้รับความร่วมมือจาก TK park จะช่วยเสริมทักษะให้กับบรรณารักษ์ของเราเพิ่มมากขึ้น ”
สำหรับแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้านในสังกัด กทม. ประกอบด้วย บ้านหนังสือ 115 แห่ง , ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ 34 แห่ง และห้องสมุดเคลื่อนที่ 7 คัน ปัจจุบัน กทม.มีบรรณารักษ์มากกว่า 200 คน
อย่างไรก็ดีเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายคือมหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทาง กทม. ได้เตรียมรณรงค์ด้านสื่อเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนกรุงเทพฯรักการอ่านมากขึ้น พร้อมเตรียมขยายพื้นที่ส่งเสริมการอ่านเพิ่มขึ้นบนสถานีรถไฟฟ้า และ รฟม. นอกจากนี้จะขยายไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่ง รวมถึงการจัดทำกระเป๋าหนังสือบนรถแท็กซี่ (ได้เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 22มิ.ย.) ภายใต้ชื่อโครงการ Read on the move ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจแล้วพบว่าวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน รวมถึงการเดินทาง จึงมีแนวคิดสร้างพื้นที่การอ่านให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการประสาน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำถึงความพยายามกระตุ้นให้เกิดกระแสการอ่านขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริง
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการก้าวต่อไปในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันทำงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบห้องสมุดมีชีวิต เพิ่มโอกาส และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เยาวชนและประชาชน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้น จะเป็นแรงขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรักการอ่าน พัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็น “มหานครแห่งการอ่านและการเรียนรู้” เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป