ผู้ว่าฯ อภิรักษ์สั่งตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายใกล้ชิดหวั่นผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว

ข่าวทั่วไป Friday May 25, 2007 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กทม.
นายชนินทร์ รุ่งแสง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานะการคลังและงบประมาณของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันว่า เนื่องจากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงและมีการคาดการณ์ว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ อย่างไรก็ตามจากการรายงานโดยสำนักการคลัง ยังไม่ส่งผลกระทบในการจัดเก็บรายได้ของกทม. แต่อย่างใด ทั้งในส่วนที่กทม. จัดเก็บเอง ซึ่งได้แก่ ภาษีโรงเรือน และภาษีป้าย และส่วนที่หน่วยงานอื่นจัดเก็บให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีล้อเลื่อน ฯลฯ ทั้งนี้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 49 - 30 เม.ย. 50 เป็นเวลา 7 เดือน มีรายรับจริง 24,816.2 ล้านบาท คิดเป็น 63.6% ของประมาณการรายรับ ประกอบด้วย รายได้ที่กทม. จัดเก็บเอง 6,676.9 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นจัดเก็บให้ 18,139 ล้านบาท จึงคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี งบประมาณ 2550 จะสามารถจัดเก็บรายได้ประมาณ 43,500 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการรายรับทั้งปีซึ่งตั้งเป้าไว้ 39,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการคลัง กทม. ติดตามผลการจัดเก็บรายได้ของกทม. อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขได้ทันทีกรณีที่มีปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บรายได้ และใช้เป็นแนวทางในการตั้งประมาณการรายรับในปีงบประมาณ 2551 ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย
นายชนินทร์ กล่าวว่า ในด้านฐานะเงินสะสมของกทม. ซึ่งในปี 2550 ได้รับผลกระทบจากการชะลอโครงการต่างๆ หลายโครงการ ทำให้มีเงินคงคลังปลอดภาระ ณ วันที่ 30 เม.ย. 50 จำนวน 12,850 ล้านบาท สูงถึง 46% ของงบประมาณ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 49 มีเงินคงคลังปลอดภาระ 4,473 ล้านบาท หรือ 29% ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ข้อสังเกตว่า การตั้งเงินสำรองคงคลังไม่ควรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ 1,000 ล้านบาท แต่ควรนำเงินส่วนดังกล่าวไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เม็ดเงินดังกล่าวมากองไว้โดยไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและการพัฒนาเมือง อีกทั้งการดำเนินโครงการของรัฐจะก่อให้เกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
สำหรับงบประมาณรายจ่ายของกทม. นั้น ณ 30 เม.ย. 50 การก่อหนี้งบลงทุนในส่วนของกทม. มีเบิกจ่ายแล้ว 36.35% ซึ่งคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณจะสามารถก่อหนี้ได้ 99.97% แต่ในส่วนของงบลงทุนจากเงินอุดหนุนรัฐบาล จำนวน 4,662 ล้าน ยังก่อหนี้ได้ล่าช้าเพียง 1.77% เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ทำให้กทม. สามารถเริ่มต้นใช้งบอุดหนุน ได้ล่าช้าไป 6 เดือน ประกอบกับนโยบายรัฐมีการชะลอโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 3 สาย วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้าง ถ.สายพรานนก - พุทธมณฑล สาย 4 ตลอดจนขั้นตอนการขออนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องผ่านทางกระทรวงมหาดไทยค่อนข้างใช้ระยะเวลา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าวโดยจะเสนอขอรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงรายการไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น ด้านจราจร สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และความปลอดภัย รวมทั้งโครงการ ความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณูปโภคเพื่อนำระบบสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ลงดิน เป็นต้น เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด
"ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ทั้งด้านการจัดเก็บรายได้ และการเร่งใช้จ่ายงบประมาณตามโครงการที่กำหนดไว้ โดยให้มีการรายงานผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบว่ามีปัญหาอุปสรรคอยู่ตรงไหน หากพบว่า มีความบกพร่องเกิดจากภายใน ก็จะมีการประเมินผลการทำงานและพิจารณาให้คุณให้โทษแก่ผู้เกี่ยวข้องด้วย" โฆษกของกทม. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ