สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ โอกาสครบรอบ 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Tuesday January 30, 2007 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ธ.ไทยพาณิชย์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในโอกาสธนาคารไทยพาณิชย์ ครบรอบ 100 ปี โดยทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกตุ มาลาพระพุทธนรสีห์ (จำลอง) และทรงเปิดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ พร้อมพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศแก่เยาวชนที่ชนะการประกวดโครงงานสร้างสรรค์ชุมชนในโครงการ “กล้าใหม่… ใฝ่รู้” โดยมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกกรรมการ ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารเฝ้ารับเสด็จฯ
วันที่ 30 มกราคม 2550 เวลา 17.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เป็นองค์ประธานในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกตุมาลาพระพุทธนรสีห์ ซึ่งธนาคารได้สร้างจำลองจากพระพุทธนรสีห์ อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่รัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยธนาคารได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างองค์จำลองขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลในโอกาสครบรอบ 100 ปี พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปบูชา
พร้อมกันนั้นทรงเปิดพร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการ “100 ปี เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก” ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ จัดแสดงขึ้นภายในพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ สำหรับพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยนั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ได้จัดสร้างขึ้นและมีการปรับปรุงเพิ่มเติมเทคโนโลยีในการนำเสนอ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ และข้อมูลทางประวัติศาสตร์การเงินการธนาคารไทยไว้อย่างครบถ้วน โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
และในโอกาสเดียวกันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศให้แก่เยาวชนที่ชนะการประกวดโครงงานพัฒนาชุมชน “กล้าใหม่…ใฝ่รู้” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ธนาคารได้จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 100 ปี เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนในทุกระดับชั้น เน้นความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ การทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยได้จัดการแข่งขันทั่วประเทศตลอดปี 2549 และเป็นโครงการที่ธนาคารมีนโยบายดำเนินการต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์ธนาคารไทยแห่งแรกของประเทศ ได้รับการยอมรับจากลูกค้า ด้วยการพัฒนาบริการเข้าสู่มาตรฐานโลกอย่างรวดเร็ว มุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำที่ให้บริการทางการเงินครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็นธนาคารที่ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และสังคมเลือก ปัจจุบันมีขนาด สินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 3 และมีมูลค่าตลาดรวมอันดับ 1 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย รวมถึงมีเครือข่ายสาขาและเอทีเอ็มมากที่สุดในประเทศไทย.
ประวัติธนาคารไทยพาณิชย์ : 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารแห่งแรกของคนไทย
ประวัติศาสตร์หน้าแรกของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกของคนไทยนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ที่ตึกแถวของพระคลังข้างที่ ตำบลบ้านหม้อ ในนาม “บุคคลัภย์” (BOOK CLUB) ด้วยพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย พระโอรสองค์ที่ 76 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยประสูติจากเจ้าจอมมารดาห่วง ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ในอันที่จะให้มีสถาบันการเงินของไทยเป็นฐานรองรับความเติบโต ด้านเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ในขั้นแรกจึงทรงริเริ่มดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นการทดลองในนาม “บุคคลัภย์” (BOOK CLUB)
เมื่อกิจการทดลองประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พระองค์จึงทรงให้การสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการขึ้น โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอำนาจพิเศษให้จัดตั้ง “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2449 ดำเนินธุรกิจธนาคารโดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 3,000,000 บาท ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ตลาดน้อย และนับเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของคนไทย โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ “ตราอาร์มแผ่นดิน” เป็นตราประจำธนาคาร จึงนับเป็นธนาคารแห่งแรกที่ได้มีข้อความจารึกพิเศษว่า “ตั้งโดยพระบรมราชานุญาต” อยู่บริเวณด้านล่างเป็นกรณีพิเศษ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกเลิกตราอาร์มแผ่นดิน และเปลี่ยนเป็นตราครุฑ ธนาคารจึงได้ใช้ “ตราครุฑ” แทนตราอาร์มแผ่นดินตั้งแต่นั้นมา
ในปี พ.ศ. 2451 บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ได้ย้ายที่ทำการจากตำบลบ้านหม้อ มาอยู่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่ตำบลตลาดน้อย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” นับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2482 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และยุคสมัย โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินกิจการรุดหน้าไปด้วยดี และเป็นรากฐานให้กับระบบธนาคารไทย จนมีธนาคารอื่นๆ เกิดขึ้นอีกมากมายหลายธนาคาร จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2514 จึงได้ขยายงานรองรับความเติบโต โดยย้ายที่ทำการสำนักงานใหญ่ ไปที่ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นถนนสายธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ในขณะนั้น ส่วนอาคารเดิมเปลี่ยนเป็นสาขาตลาดน้อย
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เข้าร่วมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาใช้ให้สอดคล้องกับสถานะภาพของบริษัทมหาชน จำกัด และธนาคารได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “THE SIAM COMMERCIAL BANK PUBLIC COMPANY LIMITED” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ด้วยวิสัยทัศน์อันก้าวไกลในการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมสู่ยุคเศรษฐกิจ และนโยบายการก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากลธนาคารจึงสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ บริเวณถนนรัชดาภิเษก และเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ณ อาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน
จวบจนถึงปีที่ 100 ของการก่อตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ ในปี พ.ศ. 2550 ธนาคารมิได้มุ่งเพียงการดำเนินธุรกิจในฐานะที่เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกเท่านั้น หากแต่ยังอุทิศตนเต็มความสามารถเพื่อสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าแก่ระบบการเงินการธนาคาร และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถือเป็นแบบอย่างของธนาคารไทย และเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของชาติ การฉลองในโอกาสครบรอบ 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแห่งแรกของคนไทย จึงควรค่าแก่การเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : วัฒนี , ดวงแก้ว โทร.(02) 544-4501-3

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ