สรุปความเป็นมาและความสำคัญของการจัดการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2007 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--นาราซีซเท็ม
สรุปความเป็นมาและความสำคัญของการจัดการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก วันที่ 8 — 9 สิงหาคม 2550 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ที่ให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา องค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จึงได้ผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีควาร่วมมือกัน โดยจัดทำเป็นร่างกฎบัตรความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า Charter of the Regional Forum on Environment and Health Southeast and East Asian Countries — Framework for Cooperation
สำหรับการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งแรกของรัฐมนตรีจาก 2 กระทรวง (กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงสิ่งแวดล้อม) ทั้ง 14 ประเทศ เพื่อให้การรับรองกฎบัตรเวทีระดับภูมิภาคเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พร้อมทั้งเห็นชอบในหลักการ วิสัยทัศน์ เป้าประสงค์ และวัตถุประสงค์ยุทธศาสตร์ โครงสร้างที่กำหนดขึ้น ซึ่งกฎบัตรนี้มิใช่เป็นกฎหมายแต่เป็นการทำงานบนพื้นฐานของพันธะสัญญาในการปฎิบัติการร่วมกันในเงื่อนไขของแต่ละประเทศ นอกจากนี้กฎบัตรยังสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือภายในประเทศอีกด้วย โดยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขทำงานร่วมกับกระทรวงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการทำแผนอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศที่เรียกว่า National Environmental health Action Plan (NEHAP)
ผู้เข้าประชุมในครั้งนี้มาจาก 14 ประเทศ ได้แก่ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประกอบด้วย บรูไน-ดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย) และประเทศในเอเชียตะวันออก (ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น มองโกเลียและสาธารณรัฐเกาหลี)
การจัดการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุม 2 ระดับ คือการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโส ในวันที่ 8 สค. 50 และการประชุมระดับรัฐมนตรีวันที่ 9 สค. 50 (ตามร่างกำหนดการเบื้องต้น)
กำหนดการประชุมวันที่ 9 สค. 50 นั้น แบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงเช้านั้น เป็นช่วงการนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารระดับประเทศ และการประชุมครั้งนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและผู้จัดการประชุม เนื่องจากศาสตาจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน ทรงร่วมฉายพระรูปร่วมกับรัฐมนตรี ทรงกล่าวเปิดการประชุม
ทรงบรรยายพิเศษ และทรงเป็นองค์ประธานในช่วงการบรรยายโดยนักวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์ระดับโลก 2 ท่าน คือ Professor Sir Gordon Conway และ Professor Dr.Margaret Lui
มาบรรยายในช่วง Opening Scientific Segment เรื่อง “Emerging Environment Health Concerns — Strengthening Science in Policies” และ Professor Dr.Nay Htun เป็น Facilitator
กำหนดการประชุมในวันที่ 9 สค. 50 ในช่วงถัดไป เป็นการประชุมที่เรียกว่า Ministerial Meeting อย่างเป็นทางการตามกำหนดการประชุม และที่สำคัญคือการกล่าวถ้อยแถลง “Statement” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ของทุกประเทศ
ผลที่เกิดขึ้น ประเทศไทยหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดความร่วมมือมากขึ้นภายในประเทศ และได้จัดตั้งกลไกการทำงานในประเทศ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมทั้งให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานหลัก 2 กระทรวง
ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในปีนี้
สาะสำคัญของแผนประกอบด้วย 6 เรื่องสำคัญ (เป็นเรื่องเดียวกับความร่วมมือระดับภูมิภาค) คือ
1 คุณภาพอากาศ
2 น้ำสะอาด สุขอนามัยและสุขาภิบาล
3 ขยะมูลฝอยและของสารอันตราย
4 สารเคมีเป็นพิษและสารอันตราย
5 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดลงของชั้นโอโซนและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์
6 การเตรียมการรองรับภาวะภัยพิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ในการจัดทำแผนยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันและการทำงานอย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น
เจ้าภาพหลัก ประกอบด้วย 5 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ WHO และ UNEP
คณะทำงานฝ่ายวิชาการ ในคณะกรรมการการจัดประชุมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ