กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย
สถานการณ์การซื้อขายล่วงหน้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในรอบเดือนกรกฎาคม ของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยหรือ AFET มีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง ราคาปรับตัวพุ่งสูงสุดชนเพดาน (Ceiling) เกือบทุกสัญญา นับเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ เหตุปรับตัวตามความเคลื่อนไหวของภาวะราคาน้ำมันโลกที่พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ผู้จัดการย้ำ AFET ช่วยลดผลกระทบจากราคายางในตลาดโลกที่ผันผวนได้ พร้อมช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางในตลาดโลกด้วย
นางนภาภรณ์ คุรุพสุธาชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยหรือ AFET เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตยางสังเคราะห์ในสัดส่วน 80% มีราคาสูง ทำให้มีราคาสูงกว่ายางธรรมชาติ ผู้ประกอบการจึงหันมาใช้ยางธรรมชาติทดแทน ส่งผลให้ราคายางทั้งที่ตลาดกลาง และตลาดล่วงหน้า AFET รวมถึงตลาดล่วงหน้าของต่างประเทศ ยังคงยืนอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าราคาที่เคลื่อนไหวขึ้นลง AFET เป็นไปตามปัจจัยต่างๆ รวมถึงราคาน้ำมันด้วย นักลงทุนในตลาดล่วงหน้า TOCOM ตลาดยางล่วงหน้าที่สำคัญของญี่ปุ่น จะวิเคราะห์ราคายางโดยดูจากราคาน้ำมัน โดยการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่นนี้ส่งผลต่อการกระตุ้นการซื้อขายของ AFET เพราะญี่ปุ่นถือเป็นประเทศผู้ซื้อยางรายสำคัญของไทย
“สินค้ายางแผ่นรมควันชั้น 3 เป็นสินค้าเด่น มาตั้งแต่ปี 2547 และคาดว่ายางจะยังคงมีบทบาทที่โดดเด่นต่อไป และถือว่าเป็นพระเอกในตลาด เพราะมีปริมาณการซื้อขายที่คึกคัก เคยทำสถิติราคาล่วงหน้าสูงสุดที่ 71.4 บาท/กก. และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังมีปริมาณการซื้อขายสูงสุดนับตั้งแต่เปิดตลาด (28 พฤษภาคม 2547) คือ 738 สัญญา คิดเป็นมูลค่า 225 ล้านบาท สถานการณ์เหล่านี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี แสดงว่านักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาซื้อขายล่วงหน้าในสินค้าตัวนี้อย่างมากและสม่ำเสมอ คิดว่า AFET เป็นกลไกที่จะมีส่วนช่วยสำคัญในการลดผลกระทบจากราคายางในตลาดโลกที่มีความผันผวนได้อย่างดี ตลอดจนช่วยสร้างเสถียรภาพราคายางในตลาดโลกด้วย” ผู้จัดการ AFET กล่าว
ทางด้าน คุณหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวถึงแนวโน้มการผลิตและส่งออกยางพาราของไทยว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเป็นช่วงที่สินค้ามีน้อย เพราะอากาศแล้งทำให้การผลิตหยุดเร็ว แต่หลังจากกรกฎาคมไปก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านตัวเลขการส่งออกจากรอยเตอร์มกราคม-เมษายนเพิ่มขึ้น 1% ก็ถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนราคานั้นขึ้นมาเยอะช่วงมกราคมถึงกรกฎาคมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้คู่แข่งส่งออกที่สำคัญของไทยคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งขายถูกกว่าไทยกิโลกรัมละ 4-5 บาท ซึ่งถือว่าเยอะถ้าเทียบกับยางแท่งด้วยกัน ไทยเราส่งออกยางแผ่นมากที่สุด รองลงมาคือยางแท่งและน้ำยาง จีนเป็นประเทศที่นำเข้ายางจากไทยมากที่สุด รองลงมาคือญี่ปุ่น และที่เหลือเป็นอเมริกาและยุโรป” นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าว
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ในตลาดโลกคาดการณ์ว่าอนาคตราคายางธรรมชาติ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคายางจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อันเป็นผลจากความต้องการยางธรรมชาติในตลาดโลกจะมีอัตราการขยายตัวสูง ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางในหลายประเทศ และคาดว่าใน ปี 2552 หรือใน ระยะ 5 ปี ข้างหน้าจะมีสวนยางที่เปิดกรีดใหม่เพิ่มขึ้น อีกมาก สำหรับประเทศที่น่าจับตามอง ว่ามีการขยายพื้นที่ปลูกยางอย่างมาก คือ ไทย จีน และเวียดนาม
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 ใน AFET เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนว่าราคาในตลาดล่วงหน้าต้องสูงกว่าราคาซื้อขายยางในตลาดปกติ นอกจากนี้การซื้อขายยางใน AFET ก็สอดคล้องกับการซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า TOCOM ทำให้โบรกเกอร์เองมีความมั่นใจว่าผู้ประกันความเสี่ยงและนักลงทุน จะเข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 เพิ่มขึ้น
เผยแพร่ในนาม ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเผยแพร่ข่าวกรุณาติดต่อ
คุณ ณ มาดา แสงนิ่มนวล
โทร 0- 2263 -9827, 0 -1684- 5420
e-mail : namada@afet.or.th--จบ--