กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ยสัปดาห์ที่ 20-24 มิ.ย. 54 ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 4.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 105.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 6.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 109.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ลดลง 3.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 92.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินลดลง 2.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 119.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 6.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 122.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- 23 มิ.ย. 54 องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ประกาศระบายปริมาณสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves) จากสมาชิก 28 ประเทศ ปริมาณ 60 ล้านบาร์เรล ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยแบ่งเป็น สหรัฐฯ 50% ยุโรป 30% และอื่นๆ 20% ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในวันดังกล่าวปรับตัวลดลง 4-7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (GDP) ในปี 54 อยู่ที่ 2.5% และในปี 55 อยู่ที่ 2.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย.ที่ 2.8% และ 2.9% ตามลำดับ จากปัญหาขาดดุลงบประมาณและเพดานหนี้
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. 54 เพิ่มขึ้น 9,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 429,000 ราย
- กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดขายบ้านใหม่ (New Single-Family Home Sales) เดือน พ.ค. 54 ลดลง 2.1% จากเดือนก่อน อยู่ที่ 319,000 หน่วย ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
- เวเนซูเอลาส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปในเดือน พ.ค. 54 เพิ่มขึ้น 260,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 2.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- รัฐมนตรีน้ำมันคูเวต นาย Mohammad al-Busairi แถลงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 54 อยู่ที่ 2.55-2.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 54 ที่ระดับ 2.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม คูเวตมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2563
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration, EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 17 มิ.ย. 54 ลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 363.8 ล้านบาร์เรล เป็นการลดลง 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง และ Gasoline ลดลง 0.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 214.6 ล้านบาร์เรล ส่วน Distillates เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 142.0 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ อัตราการกลั่นสูงขึ้น 3.1% มาอยู่ที่ 89.2% สูงสุดในรอบ 10 เดือน
- Bureau of Economic Analysis ของสหรัฐฯประกาศอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 1/54 (ครั้งสุดท้าย) อยู่ที่ 1.9% เพิ่มขึ้นจากรายงานครั้งที่ 2 ที่ 1.8% (สหรัฐฯจะทบทวนตัวเลข GDP 3 ครั้ง ก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการ)
- 22 มิ.ย. 54 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศคงระดับอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำที่ 0-0.25% เนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัว
- ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 54 เพิ่มขึ้น 6.9% (Y-O-Y) อยู่ที่ 3.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการช่วงฤดูร้อนและการขาดแคลนไฟฟ้า
- บริษัท Transcanada ลดปริมาณขนส่งน้ำมันดิบทางท่อ Keystone (590,000 บาร์เรลต่อวัน) จากแคนาดาไปยังเมือง Cushing ที่สหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 400,000-450,000 บาร์เรลต่อวัน จากการปิดซ่อมบำรุง
ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและ 88-96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นลงผันผวนตามกระแสข่าวรายวัน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเปราะบาง ทั้งภาคตลาดแรงงานและอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจประเทศสเปนมีความเสี่ยงในการฟื้นตัว ควรเพิ่มเติมมาตรการรัดเข็มขัด กระตุ้นสถาบันการเงิน และตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศกรีซมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังรัฐบาลชนะผลลงคะแนนไม่ไว้วางใจในสภา ส่งผลให้มาตรการรัดเข็มขัดของกรีซยังคงเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะทำให้กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือและไม่ผิดนัดชำระหนี้ ในขณะที่ปัญหาความไม่สงบในลิเบียยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ให้จับตาท่าทีของกลุ่ม OPEC ต่อมาตรการของ IEA ซึ่ง OPEC เห็นว่าภาวะตลาดไม่เกิดการขาดแคลนน้ำมันจนต้องใช้น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ ในภาคเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ควรจับตามองการประชุมของรัฐสภากรีซซึ่งจะพิจารณามาตรการลดรายจ่ายในวันที่ 29-30 มิ.ย. 54 และการประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่มยูโรโซนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือกรีซวงเงิน 3 หมื่นล้านยูโร ในวันที่ 3 ก.ค. 54
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
โทร. 0 2537-1630
โทรสาร 0 2537-2171