กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
“ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 25 % ในเวลา 2 ปี หรือเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรือ เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และประเทศนี้ต้องไม่มีคนว่างงาน (กองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง) ฯลฯ”
ล้วนเป็นตัวอย่างนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองนำเสนอหวังขอคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้ใช้แรงงานในการเลือกตั้งที่จะมาถึง 3 ก.ค.นี้ ซึ่งในแง่หนึ่งนับเป็นเรื่องดีเพราะหมายถึงผู้ใช้แรงงานมีความสำคัญที่พรรคการเมืองต้องกำหนดนโยบายส่งเสริมและช่วยเหลือ แต่นโยบายนั้นสามารถทำได้จริงหรือเพียงขายฝันหวังคะแนนเสียง เป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานพึงไตร่ตรอง
ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สะท้อนมุมมองให้ได้คิดว่า เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ จะว่าไปแล้วรัฐไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่มีกฎหมาย(พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2551) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี คือประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และตัวแทนฝ่ายรัฐ ซึ่งมาตรา 79 ของ พรบ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และมาตรา 87 “..ให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม” และมาตรา 88 “ เมื่อได้ศึกษาข้อมูลและพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 87 แล้ว ให้คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือโดยเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา”
ในทางปฏิบัติแม้จะมีคนของรัฐคือปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยพื้นฐานแล้วเป็นเรื่องของการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยมีตัวแทนฝ่ายรัฐทำหน้าที่คนกลางเท่านั้น ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่นายอภิสิทธิ์เคยตั้งเป้าให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาท (มติชน 17 ส.ค. 2553 น.5) แต่คณะกรรมการค่าจ้างกลางไม่เห็นด้วยและในที่สุดค่าจ้างที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนมกราคม 2554 สูงสุดคือ 221 บาทสำหรับจังหวัดภูเก็ตในขณะที่รองลงมา คือ 215 บาทสำหรับกรุงเทพฯและปริมณฑล
การกำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 25% ในเวลา 2 ปี พอจะมีความเป็นไปได้ เพราะเพิ่มจาก 221 บาท เป็น 276 บาท และใช้เวลา 2 ปี แต่ที่ยากกว่าคือ การจะเพิ่มจาก 221 บาทเป็น 300 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้นถึง 35.7 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ได้บอกว่าจะได้เมื่อไร
เมื่อพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา ระหว่างพ.ศ. 2541-2554 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยไม่เคยเพิ่มถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยเพียง 2.4 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยเพิ่มสูงสุดคือ 9.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2550-2551 และรองลงมาคือ 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2553-2554
ส่วนประเด็นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท อาจพอมีทางเป็นไปได้ในภาคเอกชน สำหรับผู้จบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สำหรับภาคราชการยังต่ำกว่าอยู่มาก ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนปริญญาตรี แต่เป็นความแตกต่างระหว่างเงินเดือนปริญญาตรีกับผู้จบระดับมัธยมปลาย ปวช. และปวส. ซึ่งดูเหมือนคนคิดนโยบายนี้จะไม่ได้ศึกษาตลาดแรงงานเลยว่าในปัจจุบันมีความขาดแคลนแรงงานระดับล่างและระดับกลางมาก ในขณะที่แรงงานระดับปริญญามีมากเกินไปจนว่างงานจำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะช่องว่างของค่าจ้างเงินเดือนสำหรับผู้จบมัธยมหรือ ปวช.ต่ำกว่าระดับปริญญามาก (ข้าราชการบัญชีเก่า ปวช. 5,760 บาท ปวส. 7,100 บาท และ ปริญญาตรี 7,940 บาท ปรับใหม่ปี 2554 ปวช. 6,100 บาท ปวส. 7,300 บาท และ ปริญญาตรี 8,700 บาท)จึงทำให้ใช้แรงงานระดับล่างและระดับกลางพยายามไขว่คว้าหาปริญญา และเกิดปัญหาความไม่สอดคล้องของโครงสร้างแรงงาน นโยบายที่น่าจะเหมาะกับสถานการณ์แรงงานของประเทศไทยจึงน่าจะเป็นการยกระดับเงินเดือนแรงงานระดับกลางให้สูงขึ้นและไม่ต่างจากแรงงานระดับปริญญาจนเกินไป
ดร.สราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายประเทศไทยไร้คนว่างงานด้วยกองทุนจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์แรงงานคงบอกได้ทันทีว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีการว่างงาน ในสหรัฐอเมริกาถือว่าอัตราการว่างงานธรรมชาติ คือ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ถือว่าต่ำมาก เนื่องจากเหตุผลสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก ประเทศไทยมีภาคเกษตรและเศรษฐกิจนอกระบบอยู่มหาศาล ลักษณะของการว่างงานในภาคดังกล่าวเห็นไม่ชัดเนื่องจากทุกคนมีงานทำแม้จะไม่ได้ทำเต็มที่ทุกคน ประการที่สอง คือระบบประกันการว่างงานของประเทศไทยเพิ่งเริ่มได้ไม่นานนัก (เริ่มเก็บเงินสมทบ วันที่ 1 ม.ค. 2547) จึงไม่ค่อยมีผู้สนใจแจ้งว่าตนเป็นผู้ว่างงานเนื่องจากมองไม่เห็นประโยชน์และยังรู้สึกเป็นการเสียหน้าด้วย
อีกทั้งนโยบายเรื่องกองทุนการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่งก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะจ้างงานเป็นเวลากี่วัน กี่เดือนหรือนานเท่าใด ทันทีที่ครบกำหนดจ้างก็จะมีการว่างงานเกิดขึ้น เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กองทุนจะสามารถจ้างงานได้ตลอดไป (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกองทุนมิยาซาว่า ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ) กองทุนจ้างงานที่พูดถึงยังเป็นการซ้ำซ้อนกับการประกันสังคมกรณีการว่างงานซึ่งมีกฎ กติกา มารยาทที่เริ่มเข้าที่เข้าทางดีอยู่แล้ว.
เผยแพร่โดย
ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ
โทร.0-22701350 ต่อ 113 (ศศิธร)
e-mail : prtdri@gmail.com