กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--อสมท
บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) จัดงานงานถนนเทคโนโลยี 2554 ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ซึ่งทุกปี นอกจากนำเทคโนโลยีใหม่ๆมานำเสนอเพื่อกระตุ้นความสนใจและการเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทยแล้ว ภายในงานยังมีการจัดประกวด การสร้างสรรค์เทคโนโลยี เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักประดิษฐ์ ได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น โดยแต่ละปีมีการกำหนดหัวข้อที่แตกต่างกันไป สำหรับในปีนี้มีหัวข้อการประกวดว่า “เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเกษตร” เกณฑ์การตัดสินหลักจึงเน้นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์เพื่อพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร สามารถนำมาใช้งานได้จริง และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เคยได้รับรางวัลมาก่อนเป็นหลัก
อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ประธานคณะกรรมการตัดสิน การประกวดเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปีนี้มีผู้ส่งใบสมัครเข้าร่วมประกวดผลงานกว่า 1,000 รายจากนั้นคณะกรรมการได้พิจารณาจากใบสมัครโดยคัดเลือกให้เหลือเพียง 40 ผลงาน และนำผลงานสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดมาพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 ผลงาน พร้อมนำมาจัดแสดงภายในงานถนนเทคโนโลยีที่ผ่านมา พร้อมจัดประกวดรอบชิงชนะเลิศหาสุดยอดผลงานเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเกษตร โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ผลงาน เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว จากศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าวพิษณุโลก พัฒนาผลงานโดย นายวัฒนชัย สุภา ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก นายประมาณ แย้มชู นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และนายประพันธ์ พงษ์ภู่ นายช่างไฟฟ้าชำนาญงาน
ประมาณ แย้มชู นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า การคิดค้นเครื่องเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว เริ่มต้นจากทางศูนย์ฯ ได้รับมอบหมายจากกรมการข้าวให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปีละประมาณ 5,500 ตันโดยแต่ละปีจะมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์หลักประมาณ 160 ตัน แต่ก็ประสบปัญหาบปญหาเมล็ดพันธุ์หลักมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการ ทางศูนย์ฯ จึงคิดประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวนาน้ำตม เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ โดยที่ไม่มีผลต่อคุณภาพ ปริมาณผลผลิต และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้
ด้านโครงสร้างของเครื่องประกอบด้วยต้นฐานรองรับส่วนกลไกหยอดเมล็ดพันธุ์ ใช้วัสดุที่เป็นเหล็กเพื่อรองรับส่วนกลไกหยอดเมล็ดพันธุ์ ที่ใช้วัสดุเป็นท่อพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว นำมาตัดเป็นท่อนยาว 13 ซม. แล้วเจาะเป็นรูครึ่งวงกลมจำนวน 12 รู และส่วนที่ประกอบใช้ สแตนเลสทำเป็นรูปกล่อง โดยท่อนพลาสติกจะหมุนแล้วตักเมล็ดพันธุ์ข้าวจาก กล่องสเตนเลส ลงแปลงปลูก
สำหรับในส่วนขับเคลื่อน ประกอบไปด้วยวงล้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 110 ซม. มีเพลาติดกับล้อและโซ่พร้อมสเตอร์ทำหน้าที่เป็นต้นกำลังให้ส่วนของกลไกการหยอดเมล็ดทำงาน ส่วนการบังคับการทำงานจะใช้วิธีการล็อกแผ่นเหล็กสองแผ่นเข้าหากัน มีสลักบังคับให้ส่วนกลไกหยอดเมล็ดทำงาน หรือหยุดทำงานได้ โดยสามารถใช้เครื่องนี้ร่วมกับรถไถเดินตาม
นายประมาณ กล่าวต่อว่า ก่อนเครื่องมือจะสำเร็จต้องลองผิดลองถูกทำการวิจัยเป็นเวลา 2-3 ปี และเพิ่งประดิษฐ์สำเร็จและทดลองจนได้ผลที่พอใจเมื่อประมาณ2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยนายประพันธ์ พงษ์ภู่ นายช่างไฟฟ้าชำนาญงานของศูนย์ฯ เป็นผู้คิดค้นและพัฒนา ซึ่งใช้งบประมาณในการประดิษฐ์จำนวน 35,000 บาทต่อเครื่อง จากการนำไปทดลองใช้ในแปลงนาทดลองของเกษตรกร ที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พบว่าสามารถช่วยเกษตรกรลดต้นทุนได้ประมาณ 1,250 บาทต่อไร่ทั้งนี้ปัจจุบันเกษตรกรจะมีต้นทุนในการปลูกข้าวเฉลี่ยประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อไร่ และต้องใช้เมล็ดพันธุ์ 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อจากทดลองใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว แล้ว ทำให้ใช้ต้นทุนในการปลูกข้าวเหลือประมาณ 3,000 กว่าบาทต่อไร่ และจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหลือเพียง 6-10 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ขณะที่ผลผลิตที่ได้มีปริมาณเท่าเดิม คือ 700 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเกษตรกรจะมีต้นทุนลดลงจากการใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงในปริมาณต่อไร่ที่ลดน้อยลง แต่คุณภาพข้าวที่ได้ดีขึ้นเกษตรกรที่สนใจผลงานสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก โทร.0-5531-1018 หรืออีเมล : psl_rsc@ricethailand.go.th
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ผลงานที่ได้รับรางวัลได้แก่ กระเช้าเกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้าจานโรตารี่ พัฒนาโดยทีมนักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง อาชีวศึกษา จังหวัดบุรีรัมย์ โดยประดิษฐ์กระเช้าขึ้นมาสวมลบริเวณส่วนหัวของเครื่องตัดหญ้า และนำไปใช้ในการเกี่ยวข้าว สามารถทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น จากนั้นน้องๆ นักศึกษายังมีแนวคิดต่อยอดเครื่องมือดังกล่าวให้สามารถทำได้จำนวนมากขึ้นและสามารถเก็บข้าวได้เรียบร้อยในขั้นตอนเดียว
ส่วนรองชนะเลิศ อันดับ 2 ผลงานที่ได้รับรางวัลได้แก่ ตะกร้อเก็บผลไม้ พัฒนาโดยนายมังกร สุพรรณชาติ เกษตรกรตัวจริง ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการคิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมา จนได้รับรางวัลดังกล่าว
นอกจากนี้ผลงานที่นำมาโชว์ทั้งหมดยังได้รางวัลชมเชย ประกอบด้วย เครื่องปลูกข้าวชนิดหยอด จากนักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพนางรอง อาชีวศึกษา จังหวัดบุรีรัมย์ , อุปกรณ์ลดเวลาการดองและแช่อิ่มผลไม้ จากนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนม, เครื่องเพิ่มมูลค่าเมล็ดข้าวสารด้วยพลังงาน สองทางเลือกเพื่อชุมชน จากโรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร จังหวัดมหาสารคาม,เครื่องต้นแบบในนการลอกรกมะขาม จากว่าที่ร.ต.ศักดิ์ศิริชัย ศรีสวัสดิ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิต คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ , เครื่องซอยมะละกอ จากนายสำราญ เวชตรียานนท์ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี , เครื่องเจาะตะลิงปลิง จากอาจารย์นทวัจน์ เจนภูมิศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ เครื่องวิลเลจเทคเจอร์ไรเซอร์สำหรับการผลิตเนื้อเทียม (โปรตีนเกษตร) จากนายกฤษณะ เต็มตระกูล สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งนี้สำหรับการประกวดในปีหน้าอาจารย์ปัญญา เปิดเผยว่า หัวข้อที่ใช้ในการประกวดคือ เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้นสำหรับนักประดิษฐ์ คิดค้นและผู้พัฒนาต่างๆ ที่สนใจสามารถติดตามการประกวดได้ทาง www.mcot.net/technologystreet
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ. อสมท 0 — 2201- 6162
สุวิสา สุวรรณลอย (เงาะ) 089 -499 -5104 , ปานจิตร แสงอากาศ (อาร์ต) 081- 347- 6390 ,
ภัทสโรฌาฆ์ เจริญพฤกษาชาติ (แจน) 089 -011-5785
ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ ยุพา สดแสงสุก 086 - 888 -2323 , จิดาภา ประมวลทรัพย์ 081 - 817 -7153