กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--TK park
“การพัฒนาเด็ก” โดยเฉพาะเรื่องของสมอง จะต้องพัฒนาตั้งแต่ ‘ ช่วงก่อนวัยเรียน หรือเด็กปฐมวัย’ ถือเป็นช่วงที่สำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ และยังส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-6 ปีแรกของชีวิต เป็นระยะที่สำคัญที่สุด เพราะสมองของเด็กมีการเจริญเติบโตมากที่สุด และพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงเหมาะสำหรับการปลูกฝั่งและวางรากฐานการเรียนรู้ให้กับเด็กได้ดีที่สุด
นางพรอนงค์ นิยมค้า เลขาธิการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า การสร้างนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กเล็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก การพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้จะทำให้เด็กใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ซึมซับและเรียนรู้ด้วยตนเอง นอกจากความรู้แล้วยังเป็นช่วงที่เราสามารถปลูกฝังได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องระเบียบวินัย นิสัยใจคอ เรื่องของคุณธรรม และจริยธรรม ได้ดีที่สุดและได้ผลมากกว่าการปลูกฝังกับเด็กที่โตแล้ว เพราะอาจเกิดการต่อต้านได้
“ ที่ผ่านมาเราได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน้อย โดยระบบการศึกษาของไทย จะให้ความสำคัญกับระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า ขณะที่พื้นฐานสำคัญที่สุดของการศึกษานั้น อยู่ที่ ‘เด็กเล็ก’ แต่เรากลับละเลยไป โดยเฉพาะ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ส่วนใหญ่จะดูแลเด็กที่ทางบ้านมีฐานะยากจน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ แต่ขาดทักษะในการพัฒนากระบวนการคิด เพราะผู้ปฏิบัติงานหรือครูพี่เลี้ยงส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้เน้นดูแลในเรื่องของกายภาพเป็นหลัก และยังขาดแคลนหนังสือสำหรับเด็กเล็กอยู่มาก เช่น หนังสือภาพ ส่วนหนังสือการ์ตูนนั้น เหมาะกับเด็กชั้นประถมมากกว่าแต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด”
เนื่องจากสมองของเด็กในวัยแรกเกิดถึงวัย 7 ปี จะพัฒนาและเรียนรู้ได้มากกว่าสมองของผู้ใหญ่เป็นพันๆ เท่า หากส่งเสริมหลังจากวัยนี้แล้วถือว่าสายเสียแล้ว ดังนั้น บุคลากรครูควรจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เรียนรู้อย่างมีความสุข จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม การดูแลด้านสุขนิสัยและโภชนาการที่เหมาะสม เด็กจึงจะพัฒนาศักยภาพสมองของเขาได้อย่างเต็มความสามารถ
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กและเยาวชน ได้นำกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ Brain-based Learning (BBL)” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการจัดกิจกรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว,ด้านภาษา,ด้านการคิด,ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์,ด้านอารมณ์และจิตใจ เข้าไปถ่ายทอดให้กับคุณครูอนุบาล และผู้ปฏิบัติงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองสตูล อ.เมือง จ.สตูล เมื่อวันที่ 12-13 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวว่า “ กิจกรรมดังกล่าวเป็นโครงการย่อยในโครงการขยายผลห้องสมุดมีชีวิตระดับจังหวัด หลังจากที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) กับเทศบาลเมืองสตูล เมื่อปลายปี 2553 เพื่อจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ เทศบาลเมืองสตูล โดยเนื้อหาในการอบรมฯ จะมีรูปแบบดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน เชื่อมโยงกับการอ่านเข้าสู่กิจกรรมเพื่อฝึกทักษะและการเรียนรู้ด้านต่างๆ โดยทุกกระบวนการต้องอาศัยสื่อที่เป็นรูปธรรมและน่าสนใจ จึงจะสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยได้อย่างสนุกสนาน ”
ด้านนายพิบูลย์ รัชกิจประการ นายกเทศมนตรีเมืองสตูล กล่าวว่า การส่งเสริมการพัฒนาของเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ทางเทศบาลฯให้ความสำคัญ จึงมีแนวคิดการจัดการศึกษาปฐมวัยออกจากโรงเรียน โดยได้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และการที่ TK park ได้นำกิจกรรมด้านการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง BBL มาอบรมจะเป็นการเพิ่มทักษะให้แก่ ครูอนุบาล ครูพี่เลี้ยง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลในพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวนกว่า 35 คน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปปรับใช้ในการพัฒนาการศึกษาของเทศบาลเมืองสตูลให้มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมนำกิจกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดไปใช้ในการพัฒนาสมอง กระตุ้นการเรียนรู้ และปลุกจินตนาการให้กับเด็กเล็กในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อพร้อมรับการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
นายพิบูลย์ กล่าวว่า “การจะพัฒนาคนต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้บริหาร โรงเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และชุมชน จะต้องประสานและร่วมมือกัน ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วถูกเขียนว่า เป็นเด็กโง่ หรือ เด็กฉลาดก่อน และอนาคตของเด็กจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับวิธีการถ่ายทอด การวางรากฐานการส่งเสริมการเรียนรู้ และการปลูกฝังเด็กในวันนี้อย่างไร”
“อย่างไรก็ดี การที่เทศบาลเมืองสตูล ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของการพัฒนาเด็กเล็ก ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง แม้เรื่องดังกล่าวจะดูว่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ ของสังคม แต่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมของเราให้เป็นสังคมแห่งการอ่าน การเรียนรู้ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้อย่างแท้จริง หากทุกฝ่ายให้การร่วมมือกัน” ผอ.TK park กล่าว
แม้การพัฒนาเด็กเล็ก ต้องอยู่ที่ครอบครัวเป็นหลัก แต่การ “สร้างคน” จะต้องทำร่วมกันทั้งที่บ้าน โรงเรียน และชุมชน ถึงจะได้คนที่มีคุณภาพสู่สังคม