กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--โรงพยาบาลปิยะเวท
สายตาที่พร่ามัวกับอายุที่เพิ่มขึ้น กำลังสร้างปัญหาคนสูงวัย จนกลายเป็นเรื่องปกติที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะต้องพกแว่นตาติดตัวตลอดเวลา โดยอาการท็อปฮิตคงต้องยกให้กับปัญหาสายตายาวตามวัย และต้อกระจก ซึ่งส่งผลให้สามารถในการมองเห็นลดลง มีผลต่อการอ่านหนังสือ หรือการขับรถในเวลากลางคืน อายุที่เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป เลนส์แก้วตาจะมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้ความสามารถในการปรับระยะภาพลดลง ทำให้ไม่สามารถปรับโฟกัสภาพให้ชัดได้เหมือนเดิม อาการที่พบบ่อยคือ ภาวะสายตายาวตามวัย สังเกตได้จากอาการเมื่อยล้าดวงตาเวลาอ่านหนังสือ การอ่านหนังสือระยะใกล้ไม่ชัดเจน ความเสื่อมตามวัยที่ร่วงโรย ทำให้เลนส์แก้วตาเริ่มหนาและแข็งขึ้นที่จุดกึ่งกลาง ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการปรับสายตา จำเป็นต้องอาศัยแว่นสายตาช่วยในการมองระยะใกล้ เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ หรือเย็บปักถักร้อย ขณะที่ “ต้อกระจก” เป็นอาการเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย จากภาวะที่เลนส์แก้วตาของคนเรา ซึ่งปกติจะมีลักษณะใสเหมือนกระจกเริ่มขุ่นมัวขึ้น เป็นสาเหตุทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงและรบกวนการปฏิบัติภารกิจประจำวัน เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือที่ยากขึ้น และหากทิ้งไว้นานโดยไม่รักษาอาจเกิดโรคต้อหินเฉียบพลันแทรกซ้อนทำให้ตาบอดในที่สุด
อาการเบื้องต้นของต้อกระจก ที่เห็นได้ชัดเจน คือ ตาไม่สู้แสง สายตาพร่ามัว ซึ่งมองเห็นไม่ชัดเจน เหมือนมีอะไรมาบังภาพบางส่วนไว้ ซึ่งจะเกิดขึ้นช้า ๆ โดยไม่มีอาการปวดตาร่วมด้วย นอกจากนี้สาเหตของต้อกระจกยังเกิดขึ้นจากผลของยาบางชนิด เช่น สเตอรอยด์ โรคแทรกซ้อนทางตาอย่าง ต้อหิน ความผิดปกติทางพันธุกรรม ตลอดจนการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ ในกรณีที่มารดาเป็นหัดเยอรมันในระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ในปัจจุบัน ผู้ที่เป็นต้อกระจก ที่มีหรือไม่มีภาวะสายตายาวตามวัยร่วมด้วย แพทย์ได้นำเลนส์แก้วตาเทียมมาแทนที่เลนส์แก้วตาตามธรรมชาติที่ได้นำออกไป ซึ่งเลนส์แก้วตาเทียมดังกล่าวนี้สามารถทำให้มองเห็นได้ทุกระยะและทุกสภาพแสงโดยไม่ต้องใส่แว่น
การรักษาต้อกระจกทำได้โดยการผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นออกแล้วใส่แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ ซึ่งปัจจุบันการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 วีธี คือ การผ่าตัดเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกมา (ECCE) โดยเปิดแผลยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ แล้วเย็บปิดแผล และ การผ่าตัดโดยวิธีการสลายต้อกระจกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) สลายต้อกระจกและดูดออกมา
วิธีดังกล่าวได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2.2 — 3.0 มิลลิเมตร และใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็ว ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า จึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ซึ่งจักษุแพทย์ที่ชำนาญสามารถทำผ่าตัดได้ โดยใช้ยาชาหยอดเฉพาะที่เท่านั้น ไม่ต้องฉีดยาหรือดมยาสลบการผ่าตัดจึงมีความปลอดภัยขึ้น อีกทั้งได้ออกแบบเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถโฟกัสได้หลายระยะ (Multifocal lenses) ทั้งใกล้และไกล ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มความสามารถในการโฟกัสภาพในทุกกิจกรรมและสภาพแสง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในการมองเห็นให้กลับเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง การอ่านหนังสือพิมพ์ ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ และขับรถได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยแว่นสายตาเป็นตัวช่วยอีกต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการใช้เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งเป็นเลนส์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใส่แทนเลนส์แก้วตาธรรมชาติ ซึ่งแบ่งตามวัสดุที่นำมาผลิตได้ 2 ชนิดได้แก่ เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแข็ง ทำจากสาร Polymethylmethacrylate (PMMA) ไม่สามารถพับได้ นิยมใช้ร่วมกับการผ่าตัดแบบ ECCE และเลนส์แก้วตาเทียมชนิดนิ่ม ทำจากวัสดุได้หลายชนิด เช่น Silicone หรือ Acrylic สามารถพับและใส่ผ่านแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กเข้าไปในตาได้ จึงนิยมใช้ร่วมกับการผ่าตัดโดยวิธีการสลายต้อกระจกโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) การพัฒนาเลนส์แก้วตาเทียมชนิดใหม่ขึ้นมานี้ เพื่อแก้ปัญหาภาวะสายตายาวตามวัย เป็นเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เรียกว่า “Full Diffractive Design” ทำให้เพิ่มความสามารถในการโฟกัสภาพใกล้และภาพไกล ในทุกกิจกรรมที่ทำและในทุกเวลาหรือทุกสภาวะแสง โดยไม่จำเป็นต้องสวมแว่นตา
ทั้งนี้แพทย์จะวินิจฉัยในส่วนของการรักษาและเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ ให้กับผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อความเหมาะสมกับชนิดของเลนส์แก้วตาเทียม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ศูนย์จักษุ ชั้น 6 โรงพยาบาลปิยะเวท โทร 02.625-6648-9