กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
ผลการศึกษาจากไอดีซีที่ได้รับการสนับสนุนจากอีเอ็มซีคาดการณ์ปริมาณดาต้าโตเร็วกว่ากฎของมอร์ (Moore’s Law) โดยในปี 2544 มีข้อมูลมากถึง 1.8 เซตตาไบต์องค์กรต้องจัดการข้อมูลและไฟล์มากขึ้น 50 เท่า คาดเติบโต 75 เท่าในทศวรรษหน้า
ประเด็นข่าว:
- ไอดีซีเผยผลการศึกษา ดิจิตอล ยูนิเวิร์ส (Digital Universe) ฉบับล่าสุดภายใต้หัวข้อ “การกลั่นกรองคุณค่าจากความโกลาหล” (Extracting Value from Chaos) 1 (ได้รับการสนับสนุนจากอีเอ็มซี) พร้อมระบุ ข้อมูลทั่วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 2 ปี ซืงเติบโตเร็วกว่ากฎของมอร์
- ผลการศึกษาดังกล่าวคาดการณ์ว่า ข้อมูล 1.8 เซตตาไบต์ (1.8 ล้านล้านกิกะไบต์) จะถูกสร้างและคัดลอกในช่วงปี 2554
- กระแสของดิจิตอล ยูนิเวิร์ส (Digital Universe) และ “บิ๊กดาต้า” (Big Data) ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ
- เทคโนโลยี “การบริหารจัดการข้อมูล” (Information Taming) ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสร้าง บันทึก จัดการ และจัดเก็บข้อมูล โดยในปี 2554 ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 6 เมื่อเทียบกับปี 2548
- การลงทุนขององค์กรต่างๆ ในระบบข้อมูลดิจิตอลเพิ่มขึ้น 50% จนถึงระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
เนื้อหาข่าว:
ฮอปคินตัน, แมสซาชูเส็ตต์—29 มิถุนายน 2554—อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น (NYSE:EMC) เผยผลการศึกษา ดิจิตอล ยูนิเวิร์ส (Digital Universe) ของไอดีซี ภายใต้หัวข้อ “การกลั่นกรองคุณค่าจากความโกลาหล” (Extracting Value from Chaos) โดยผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า ข้อมูลทั่วโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 2 ปี และข้อมูล 1.8 เซตตาไบต์ถูกสร้างและคัดลอกในช่วงปี 2554 ซึ่งเติบโตเร็วกว่ากฎของมอร์
สำหรับท่านที่ต้องการรับชมข้อมูลในรูปแบบมัลติมีเดีย กรุณาชมเว็บไซต์http://www.emc.com/about/news/press/20110628-01.htm
ผลการศึกษาประจำปีฉบับที่ 5 นี้ประเมินและคาดการณ์เกี่ยวกับปริมาณข้อมูลดิจิตอลที่ถูกสร้างและคัดลอกในแต่ละปี พร้อมทั้งวิเคราะห์นัยยะทั้งในระดับบุคคล องค์กร และบุคลากรด้านไอที รวมถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีสำหรับกระแสบิ๊กดาต้าและโอกาสอื่นๆ
ในแง่ของปริมาณ ข้อมูล 1.8 เซตตาไบต์เท่ากับ:
- ประชากรทุกคนในประเทศไทย (ประมาณ 67 ล้านคน) ส่งข้อความทวีต 3 ข้อความต่อนาทีเป็นระยะเวลา 124,311 ปีอย่างต่อเนื่อง
- ประชากรทุกคนทั่วโลกสแกน MRI แบบความละเอียดสูงกว่า 215 ล้านครั้งต่อวัน
- ภาพยนตร์ระบบ HD กว่า 200,000 ล้านเรื่อง (ความยาวเรื่องละ 2 ชั่วโมง) ถ้าให้คน 1 คนชมภาพยนตร์ทั้งหมดต่อเนื่องทุกวันตลอด 24 ชั่วโมงไม่หยุด ก็จะต้องใช้เวลานานถึง 47 ล้านปี
- ปริมาณข้อมูลที่ต้องใช้เพื่อเติมเต็มหน่วยความจำ 32GB ในเครื่องแอปเปิล ไอแพด (Apple iPad) จำนวน 57,500 ล้านเครื่อง โดยหากใช้ไอแพดจำนวนเท่านี้ เราจะสามารถ:
- สร้างกำแพงไอแพดที่มีความยาว 4,005 ไมล์ และมีความสูง 61 ฟุต โดยครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เมืองแองเคอเรจ รัฐอลาสก้า ไปจนถึงเมืองไมอามี่ รัฐฟลอริด้า
- สร้างกำแพงเมืองจีนโดยใช้ไอแพด ซึ่งจะมีความสูงเฉลี่ยมากกว่ากำแพงของจริงถึง 2 เท่า
- สร้างกำแพงสูง 20 ฟุตล้อมรอบทวีปอเมริกาใต้
- ครอบคลุมพื้นที่ 86% ของเม็กซิโกซิตี้
- สร้างภูเขาที่สูงกว่าภูเขาไฟฟูจี 25 เท่า
แรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากเทคโนโลยีและเงิน เทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการบริหารจัดการข้อมูล หรือ “Information Taming” ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสร้าง บันทึก จัดการ และจัดเก็บข้อมูลให้เหลือเพียง 1 ใน 6 เมื่อเทียบกับปี 2548 นอกจากนั้น ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา การลงทุนขององค์กรต่างๆ ในระบบข้อมูลดิจิตอล (Digital Universe) เพิ่มขึ้น 50% จนถึงระดับ 4 ล้านล้านดอลลาร์
ประเด็นสำคัญในผลการศึกษา:
- บุคลากรไม่เพียงพอต่อการจัดการเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ข้อมูลจำนวนมหาศาล และจำนวนไฟล์ที่เพิ่มขึ้น: ไอดีซีตั้งข้อสังเกตว่าทักษะ ประสบการณ์ และทรัพยากรที่ใช้ในการจัดการข้อมูลและทรัพยากรจำนวนมหาศาลไม่เพียงพอต่อการขยายตัวในทุกๆ ด้าน ในช่วงทศวรรษหน้า (ภายในปี 2563) ฝ่ายไอทีทั่วโลกจะต้องรับมือกับสถานการณ์ต่อไปนี้:
- เซิร์ฟเวอร์ (แบบเวอร์ช่วลและฟิสิคอล) มีจำนวนเพิ่มขึ้น 10 เท่า
- ข้อมูลที่จะต้องบริหารจัดการมีปริมาณเพิ่มขึ้น 50 เท่า
- ไฟล์หรือคอนเทนเนอร์ที่บรรจุข้อมูลมีจำนวนเพิ่มขึ้น 75 เท่า ซึ่งเติบโตรวดเร็วกว่าข้อมูล เพราะมีระบบ Embedded ที่ติดตั้งไว้ในอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ในเสื้อผ้า สะพาน หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์
- บุคลากรฝ่ายไอทีที่จะต้องจัดการสิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 เท่า
- ค่าใช้จ่ายสำหรับคลาวด์คอมพิวติ้งและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน: แม้ว่าคลาวด์คอมพิวติ้งจะมีสัดส่วนไม่ถึง 2% ของค่าใช้จ่ายไอทีในปัจจุบัน แต่ไอดีซีประเมินว่าภายในปี 2558 ข้อมูลเกือบ 20% จะถูก "สัมผัส" โดยผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งนั่นหมายความว่าในช่วงอายุการใช้งานของข้อมูล ตั้งแต่การสร้างไปจนถึงการกำจัด ข้อมูลจะถูกจัดเก็บหรือประมวลผลในระบบคลาวด์ บางทีอาจจะมีข้อมูลมากถึง 10% ที่ได้รับการดูแลรักษาในระบบคลาวด์
- โลกดิจิตอลทำงานในลักษณะที่ควบคุมตัวเอง: ข้อมูลที่บุคคลสร้างขึ้นเอง เช่น การเขียนเอกสาร ถ่ายภาพ ดาวน์โหลดเพลง ฯลฯ มีปริมาณน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับข้อมูลที่้ถูกสร้างขึ้นในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในโลกดิจิตอล
- ความรับผิดชอบอยู่ที่องค์กรเป็นหลัก: แม้ว่า 75% ของข้อมูลดิจิตอลถูกสร้างขึ้นโดยบุคคล แต่องค์กรต่างๆ ต้องดูแลรับผิดชอบข้อมูลดิจิตอล 80% ณ จุดใดจุดหนึ่งในช่วงอายุการใช้งานของข้อมูล
“ข้อมูลจำนวนมหาศาลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดโอกาสมากมายไม่มีที่สิ้นสุด ควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ” เจเรมี่ เบอร์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น กล่าว “แนวโน้มของข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) ส่งผลให้องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการและการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ข้อมูล อีเอ็มซีมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกค้า ตั้งแต่องค์กรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไปจนถึงหน่วยงานราชการและองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อใช้ประโยชน์จากคุณค่าที่ซ่อนเร้นของข้อมูลดิจิตอล ขณะที่ลูกค้ากำลังพัฒนาไปสู่ระบบคลาวด์”
ข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่พบ
- เครื่องมือใหม่สำหรับการบันทึก ค้นหา ตรวจสอบ และวิเคราะห์จะช่วยให้องค์กรสามารถกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของข้อมูลดิจิตอล เครื่องมือเหล่านี้สามารถสร้างคำอธิบายข้อมูลโดยอัตโนมัติ เหมือนกับการจดจำใบหน้าซึ่งใช้สำหรับแท็กภาพถ่ายบนเฟซบุ๊ค คำอธิบายข้อมูลหรือเมตาดาต้า (Metadata) มีปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าการเติบโตของข้อมูลดิจิตอลโดยรวมถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
- เครื่องมือบิสซิเนส อินเทลลิเจนซ์ (Business Intelligence) ต้องจัดการกับข้อมูลเรียลไทม์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคิดค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์โดยพิจารณาจากสถานที่ที่ขับขี่ การกำหนดเส้นทางสำหรับการส่งกระแสไฟฟ้าบนโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือการเปลี่ยนแปลงข้อความด้านการตลาดอย่างฉับพลันทันทีเพื่อให้สอดรับกับการตอบสนองที่เกิดขึ้นในเครือข่ายสังคมออนไลน์
- มีเครื่องมือใหม่สำหรับการจัดการสตอเรจ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูล เช่น เทคโนโลยีการขจัดข้อมูลซ้ำซ้อน (De-duplication), การแบ่งระดับชั้นอัตโนมัติ (Auto-tiering) และเวอร์ช่วลไลเซชั่น (Virtualization) และช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าควรจะเก็บข้อมูลใดบ้าง เหมือนในโซลูชั่นการจัดการคอนเทนต์
- แนวทางและเครื่องใหม่ๆ ด้านการรักษาความปลอดภัยจะช่วยให้องค์กรสามารถระบุข้อมูลที่จำเป็นต้องปกป้อง รวมถึงระดับการรักษาความปลอดภัย โดยครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ป้องกันภัยคุกคามที่เฉพาะเจาะจง ไปจนถึงระบบจัดการการฉ้อโกงและบริการปกป้องชื่อเสียง
- โซลูชั่นคลาวด์คอมพิวติ้ง ทั้งแบบพับบลิค (Public), ไพรเวท (Private) และไฮบริด (Hybrid) ช่วยให้องค์กรประหยัดค่าใช้จ่าย เพิ่มความคล่องตัว และปรับปรุงความยืดหยุ่นได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับระบบไอทีรุ่นเก่า ในระยะยาว โซลูชั่นดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการรับมือกับความซับซ้อนของโลกดิจิตอล
- คลาวด์คอมพิวติ้งรองรับการใช้ไอทีในรูปแบบบริการ (IT-as-a-Service) ซึ่งเมื่อรวมกับปรากฏการณ์บิ๊กดาต้าแล้ว จะส่งผลให้องค์กรต่างๆ หันมาใช้ระบบไอทีในรูปแบบของบริการภายนอกกันมากขึ้น แทนที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร
- การเติบโตของข้อมูลดิจิตอลยังคงแซงหน้าการขยายตัวของพื้นที่จัดเก็บข้อมูล แต่อย่าลืมว่าข้อมูล 1 กิกะไบต์ที่จัดเก็บไว้สามารถสร้างข้อมูลชั่วคราวที่เราไม่ได้เก็บไว้ 1 เพทาไบต์ขึ้นไป (เช่น สัญญาโทรทัศน์ดิจิตอลที่เรารับชม แต่ไม่ได้บันทึกไว้ เสียงสนทนาทางโทรศัพท์ที่เป็นดิจิตอลในเครือข่ายตลอดระยะเวลาที่สนทนา)
- ไม่ถึง 1 ใน 3 ของข้อมูลดิจิตอลมีการรักษาความปลอดภัยหรือการปกป้องในระดับที่น้อยมาก ส่วนข้อมูลที่ได้รับการปกป้องอย่างเหมาะสมมีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
ข้อมูลเกี่ยวกับอีเอ็มซี
อีเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น (NYSE: EMC) เป็นผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาและจัดหาโซลูชั่นและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งช่วยให้องค์กรทุกขนาดปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันและใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากข้อมูลที่มีอยู่ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของอีเอ็มซี คลิกไปที่ www.thailand.emc.com
นายเจสัน ชาน
อีเอ็มซี คอร์เปอเรชั่น
โทร: +65 6427 1375
อีเมล์: chan_jason@emc.com
คุณเมธาวี เฉลิมธนศักดิ์
พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
โทร: +66 2 971 3711
อีเมล์: maythavee@pc-a.co.th