“พิจิตร” ประกาศจังหวัดปลอดสารพิษ พลิกชีวิตเกษตรกร ฟื้นชีวาผู้รักสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday June 30, 2011 09:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร อาหารปลอดสารพิษกำลังเป็นที่ต้องการในหมู่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และยังคงกระแสที่มาแรงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย แต่ที่พิจิตร คนที่นั่นตระหนักในภัยใกล้ตัวนี้ถึงขนาดพร้อมใจกันตั้งแต่เกษตรกรถึงผู้บริโภค “ประกาศอิสรภาพจากสารพิษ” ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ระหว่างปี 2548-2553 มีการตรวจหาสารเคมีตกค้างในเลือดของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรเหล่านี้มีปริมาณสารเคมีตกค้างในระดับสูงขั้นเสี่ยงและไม่ปลอดภัย เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่มีแนวโน้มการสะสมสารเคมีตกค้างเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 23-25 เป็นร้อยละ 33-34 ข้อเท็จจริงที่น่าตกใจดังกล่าวคือที่มาของขบวนการประกาศอิสรภาพจากสารพิษ ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ขบวนการขับเคลื่อนให้เกิดการทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดได้ปรากฏขึ้นและขยายวงอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อที่ว่าอาหารปลอดภัยต้องเริ่มจากต้นทาง นั่นคือความปลอดภัยในชีวิตของเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร รองศาสตราจารย์ วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชชาการ “1 ทศวรรษสมัชชาสุขภาพ” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนจะมาเป็นประกาศดังกล่าว มีกระบวนการร่วมคิดร่วมใจกันของชาวจังหวัดพิจิตรในวงสมัชชาสุขภาพจังหวัด ตั้งแต่การเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนกันมาช่วยกันขบคิดถึงปัญหาสารเคมีตกค้างในร่างกายของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยนักวิชาการสนับสนุนความรู้เรื่องการปลูกพืชปลอดสาร (เคมี) แต่ผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นมีมากกว่านั้น “เกษตรกรที่พิจิตร เขามีองค์ความรู้และบทเรียนการทำงานเกี่ยวกับการเพาะปลูกไร้สารพิษอยู่ก่อนแล้ว พวกเขามาช่วยกันคิดที่จะหาทางดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้ปลอดจากสารปนเปื้อนที่ใช้ในการเพาะปลูก นอกจากนี้ พวกเขายังเรียนรู้ที่จะหาตลาดใหม่ ๆ ขยายวงผู้บริโภคให้กว้างขึ้น ซึ่งสอดรับกับกระแสอาหารปลอดภัยในปัจจุบันที่มีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มากมาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ คนรักสุขภาพกลุ่มใหญ่นี้ ต่างตื่นตัวกับอาหารปลอดสารพิษและยอมจ่ายเพื่อให้ได้รับอาหารที่ปลอดสาร ทั้งในผักและผลไม้” นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ตัวแทนของกลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดพิจิตร กล่าวเสริมว่า เค้าลางของเรื่องนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการนำตารางแห่งอิสรภาพมาพิจารณา ตารางนี้เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้ที่บรรดาแกนนำเกษตรกรทั้งจังหวัดพิจิตรร่วมกันร่างขึ้นคราวตลาดนัดความรู้ ณ วัดวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งได้รับการเจียระไนให้สมบูรณ์ขึ้นเมื่อคณะทำงานของนายแพทย์วิจารณ์ พานิช เข้ามาหนุนเสริมอย่างเป็นระบบ ดอกผลของแบบอย่างที่พิจิตรคือการรวมตัวของเกษตรกรก่อตั้ง “ชมรมเกษตรกรธรรมชาติและอาหารปลอดภัย” พร้อมวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันทุกระดับ โดยการประสานงานกลางของมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จนกระทั่งปี 2549 ได้มีการนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพมาใช้ในการหนุนเสริม ซึ่งช่วยให้หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ กลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า ต่างยินดีที่จะรวมตัวกันสานพลังเป็นกลุ่มก้อน พร้อมนำข้อคิดต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นระหว่างกระบวนการเรียนรู้ไปปฏิบัติจริง อาทิ การทำเกษตรแบบ “ลด ละ เลิก” สารเคมี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสามารถพลิกฟื้นแผ่นดินที่ใครต่อใครต่างเรียกขานว่าเป็น “แผ่นดินอาบยาพิษ” ให้กลับคืนสู่ “แผ่นดินทอง” ได้ในไม่ช้า ที่เหลือคือเวลาแห่งการเยียวยาที่ต้องอาศัยพลังใจของคนทั้งจังหวัดและความต่อเนื่องในการลงมือปฏิบัติเพื่อพลิกฟื้นสุขภาพของชาวจังหวัดพิจิตรให้คืนสู่สภาพปรกติสุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ