กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ขอเชิญชวนชาวไทยเป็นกำลังใจให้ทีมฟินิกซ์ (Phoenix) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก 2011 (RoboCup 2011, RoboCupSoccer, Humanoid League) ณ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 5-11 กรกฎาคม ศกนี้ โดย 34 ทีมหุ่นยนต์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขัน ประเภทการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์
สมาชิกในทีมฟินิกซ์ (Phoenix) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 จะเดินทางจากประเทศไทยเพื่อเข้าแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2011 ณ ประเทศตุรกี พร้อมกับ ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทางของทีม และสมาชิกในทีมประกอบด้วยนายนาถพงศ์ แก้วเหล็ก นายอานนท์ พวงรัตน์และนายอำนาจ บุตรสงกา
ดร. ถวิดา กล่าวว่า "ทีมฟินิกซ์มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการแข่งขันระดับโลก โดยได้มี การปรับฟังก์ชั่นของผู้รักษาประตูและเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ ของหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ การแข่งขันในระดับสากลอย่างการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก 2011 จะนำมาซึ่งเส้นทางที่หลากหลายและโอกาสอันมหาศาลสำหรับการเรียนรู้อย่างไร้พรมแดนในด้านการประดิษฐ์หุ่นยนต์ เทคโนโลยีใหม่ ๆ การใช้เซ็นเซอร์ การเขียนโปรแกรม การรวมระบบ (system integration) นอกจากนี้ การแข่งขันดังกล่าวยังช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้จากนานาประเทศและจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสำหรับทั้งนักประดิษฐ์หุ่นยนต์สมัครเล่นและผู้ที่คร่ำหวอดในวงการพัฒนาหุ่นยนต์ทั่วโลก"
การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์โลก 2011 นับว่าเป็นการแข่งขันที่ท้าทายมากที่สุดอันดับหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ เนื่องจากหุ่นยนต์ต้องมีความเป็นอัตโนมัติภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของขนาดและ การทรงตัว นอกจากนี้ ยังต้องมีการทำงานแบบกระจายซึ่งหมายความว่าหุ่นยนต์แต่ละตัวจะต้องทำงานได้อย่าง เป็นอิสระต่อกันโดยใช้หน่วยประมวลผลที่ตัวหุ่นยนต์เท่านั้น ไม่มีการใช้หน่วยประมวลผลกลาง การประมวลผลจากภาพก็ต้องทำภายในหุ่นยนต์ การติดต่อสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์สามารถทำได้โดยใช้ระบบเครือข่ายไร้สาย (wireless network)
ในการแข่งขัน ผู้เล่นในสนาม จะแบ่งออกเป็น 2 ทีม มีผู้เล่นทีมละ 3 ตัว โดยมี 1 ตัวเป็นผู้รักษาประตู การแข่งขันจะแบ่งเป็นสองครึ่งเวลา ครึ่งเวลาละ 10 นาที สนามถูกย่อขนาดลงเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดหุ่นยนต์เหลือ 4 x 6 เมตร และใช้ลูกเทนนิสสีส้มเป็นลูกฟุตบอลในการแข่งขัน ทีมที่ทำประตูได้มากกว่าจะเป็นผู้ชนะ
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โทรศัพท์ 0-2715-2919, Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com