กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--สสวท.
“พวกเราจะพยายามทำให้ดีที่สุด” นี่คือสิ่งที่บรรดาผู้แทนประเทศไทยทั้ง 4 คน ฝากถึงคนไทยกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23” (The 23rd International Olympiad in Informatics: IOI 2011) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 — 29 กรกฎาคม 2554 ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา ผู้แทนประเทศไทยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้มี 4 คน ได้แก่ 1.นายพศิน มนูรังษี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 2.นายลภนชัย จิรชูพันธ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 3.นายวิชชากร กมลพรวิจิตร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และ 4.นายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ทั้งนี้หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมเด็กเหล่านี้จึงมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร? เรามาลองฟังเรื่องราวของพวกเขากันเลย
เริ่มจากนายพศิน มนูรังษี โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เจ้าของเหรียญทองและเหรียญเงินจากการแข่งขัน IOI 2010 และ IOI 2009 เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่สนใจคอมพิวเตอร์อย่างจริงจังจนได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก เนื่องจากเห็นว่าคอมพิวเตอร์มีบทบาทและความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ และที่ผ่านมามีโอกาสได้เข้าค่ายคอมพิวเตอร์ ที่มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์การศึกษา (สอวน.) โดยการเขียนโปรแกรมยังใช้พื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ถนัดและชื่นชอบ เพราะคณิตศาสตร์มีกระบวนการคิดและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำอย่างอื่นได้ดี ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พร้อมกันนี้ยังเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากเว็บไซต์ www.programming.in.th
สำหรับการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งนี้ ยอมรับว่า ไม่รู้สึกกดดันมากนัก เพราะที่ผ่านมามีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี และสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ พยายามไม่เครียด สนุกกับสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันต้องรู้จักแบ่งเวลาเรียน เล่น ทำกิจกรรม และฝึกซ้อม อย่างไรก็ตาม ได้วางแผนชีวิตในอนาคตไว้ว่า จะไปศึกษาต่อด้านคอมพิวเตอร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบจะกลับมาทำงานอาจารย์ นักวิจัย หรือ โปรแกรมเมอร์
โดยพศินฝากถึงน้อง ๆ และเยาวชนไทยที่สนใจคอมพิวเตอร์ อาจหาหนังสือมาอ่านทำความเข้าใจด้วยตนเองก่อน จากนั้นหากต้องการเพิ่มพูนความรู้ให้มากขึ้นก็ควรเข้าค่ายของ สอวน.
เช่นเดียวกับนายลภนชัย จิรชูพันธ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เล่าว่า สนใจคอมพิวเตอร์จากพี่ที่เรียนจบมาทางด้านนี้ ซึ่งได้สอนให้ตนหัดเขียนโปรแกรม จากนั้นจึงสอบเข้าค่ายของมูลนิธิ สอวน. เพื่อเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ยอมรับว่า รู้สีกกดดันบ้าง แต่จะสู้อย่างเต็มที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีตั้งแต่เข้าค่าย ฝึกแก้โจทย์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อาจารย์ก็ได้สอนเทคนิคต่าง ๆ ให้อย่างสม่ำเสมอ
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ลภนชัย ต้องการให้คนไทยมองคอมพิวเตอร์ในลักษณะที่แตกต่างจากแค่การเล่มเกมส์และแชท เนื่องจากคอมพิวเตอร์มีประโยชน์มากกว่านั้น โดยตนเองนั้นได้รับทุนโอลิมปิกจาก สสวท.ให้ไปศึกษาต่อปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ด้านคอมพิวเตอร์ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบกลับมาจะทำงานเป็นอาจารย์ หรือ นักวิจัย เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
สอดคล้องกับนายวิชชากร กมลพรวิจิตร เจ้าของรางวัลเหรียญทองการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 4 และรองชนะเลิศ อันดับ 2 การแข่งขัน IOI Thailand Codejom 2011 กล่าวว่า สนใจคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากอาทำงานด้านนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ศึกษาและเรียนรู้คอมพิวเตอร์จากการซื้อหนังสือคอมพิวเตอร์มาอ่านอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีหนังสือคอมพิวเตอร์มากกว่า 1 พันเล่ม สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ รู้สึกกดดันบ้างเล็กน้อย แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าค่ายคอมพิวเตอร์มากว่า 5 ปี ส่วนชีวิตในอนาคตได้รับทุนโอลิมปิกจาก สสวท. ให้ไปเรียนด้านคอมพิวเตอร์ กลับมาจะทำงานเป็นอาจารย์ หรือ นักวิจัย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแคลนบุคคลากรด้านนี้เป็นจำนวนมาก
ด้านนายสรวิทย์ สุริยกาญจน์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เจ้าของรางวัลเรียญเงินการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับทวีปเอเซีย (APIO 2010) เล่าให้ฟังว่าเริ่มสนใจคอมพิวเตอร์ เนื่องจากต้องการเขียนโปรแกรมเอาชนะเกมออนไลน์ จึงเริ่มศึกษาการเขียนโปรแกรมจากเว็บไซต์ จากนั้นพอเข้ามาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนมหิดล วิทยานุสรณ์ ก็เข้าร่วมกิจกรรมการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และในที่สุดก็มีโอกาสเข้าค่ายที่มูลนิธิ สอวน. ซึ่งได้บ่มเพาะความรู้อยู่ในค่ายมากว่า 2 ปี
สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ได้รู้สึกกดดันมากนัก แม้จะเข้าแข่งขันเป็นปีแรก เพราะยังมีโอกาสเข้าแข่งขันได้อีกในปีหน้า โดยวางแผนชีวิตในอนาคตว่า จะรับทุนโอลิมปิกจาก สสวท.ในปีหน้า เพื่อศึกษาต่อปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ด้านคอมพิวเตอร์ จบกลับมาจะเป็น อาจารย์ โปรแกรมเมอร์ หรือนักวิจัย พวกเขาเหล่านี้ คือ ผลผลิตของต้นกล้าไอทีรุ่นใหม่ ที่บ่มเพาะความรู้ความสามารถด้านคอมพิวเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่า วันหนึ่ง
เมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษาจะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านคอมพิวเตอร์กลับมาพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ และวันนั้นคนไทยทั้งประเทศ อาจได้ยินชื่อของพวกเขาในฐานะ “นักโปรแกรมระดับโลก”ก็เป็นไปได้
ขอเชิญติดตามและร่วมเป็นกำลังใจให้พวกเขาได้ที่เว็บไซต์ http://www.ioi2011.or.th/ หรือเฟซบุ๊ค http://th-th.facebook.com/ioi2011