มท.ประชุมกำหนดมาตรการเร่งด่วนรับมือน้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Friday July 1, 2011 14:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทยจัดประชุมกำหนดมาตรการเร่งด่วน 2 ระดับ เพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน เพื่อประสานงานและสนับสนุนทรัพยากรในการช่วยเหลือ บรรเทาภัย และฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัย พร้อมจัดฝ่ายเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย ส่วนจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด ปฏิบัติงานเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมย้ำให้ประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปฏิบัติการมีเอกภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ประสบภัย นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองประธานศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2554 เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างได้เกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 1 แสนคน กระทรวงมหาดไทยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดที่ประสบภัย เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น พร้อมสำรวจความเสียหาย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเพื่อให้บริหารจัดการอุทกภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2554 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเป็นศูนย์กลางอำนวยการ ประสานการปฏิบัติในการระดมสรรพกำลังและทรัพยากรช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว และทั่วถึง พร้อมกำหนดมาตรการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย เป็น 2 ระดับ ดังนี้ ส่วนกลาง ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเฝ้าระวังและ แจ้งเตือนภัย เพื่อทำหน้าที่ติดตามสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ จะได้สามารถแจ้งเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วและระบุพื้นที่ได้ชัดเจน รวมถึงให้ทุกหน่วยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Operation Center) โดยมีศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉินของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์กลางในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนทรัพยากรในการปฏิบัติการช่วยเหลือบรรเทาภัย และฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสนับสนุนการปฏิบัติการดังกล่าว หากสถานการณ์ภัย ขยายวงกว้างจนเกินกำลังของจังหวัด ให้ฝ่ายเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยของทุกหน่วยประสานกระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการ เพื่อติดตาม ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเสนอกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อให้การสั่งการแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการสื่อมวลชนภาครัฐและเอกชนแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงทุกพื้นที่ นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของจังหวัด ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามสถานการณ์และระดมทรัพยากรในการช่วยเหลือ บรรเทา และฟื้นฟูบูรณะในระดับพื้นที่ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหากับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ ระดับจังหวัด เพื่อให้การปฏิบัติการมีเอกภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ประสบภัย สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยที่ทุรกันดารและยากต่อการช่วยเหลือ ให้จังหวัดจัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคสำรองไว้ล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ดำรงชีพได้ในช่วง 7 วันแรกเมื่อเกิดสถานการณ์ภัย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะได้นำมาตรการเร่งด่วนไปบูรณาการกับหน่วยงานเครือข่ายและจังหวัด เพื่อให้การปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ซึ่ง ปภ. ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ