กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สสส.
เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ศูนย์สร้างสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จัดเสวนา “นมแม่ สายธารหล่อเลี้ยงโลก” ขึ้น ณ ลานกิจกรรม ศูนย์สร้างสุข สสส. อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ ชั้น 35 ยกประเด็นบทบาทของผู้หญิงในฐานะ “แม่” ชี้ให้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และกฎหมายที่เกื้อหนุนต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.วีระพงษ์ ฉัตรานนท์ คณะกรรมการที่ปรึกษาศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ผู้ทำงานด้านส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาอย่างยาวนาน กับ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์นักกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคุณแม่ลูก 2 ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง มาร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเอง
ศ.เกียรติคุณ นพ.วีระพงษ์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของผู้หญิงในฐานะ “แม่” ไว้ว่า “ผู้หญิง นอกจากจะทำหน้าที่เป็นแม่ผู้ให้กำเนิดแล้ว ยังจะต้องเป็นผู้ให้อนาคตแก่ลูกด้วย” พร้อมกันนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ซึ่งไม่มีอาหารอื่นใดจะมาทดแทนหรือเทียบเคียงคุณประโยชน์ได้ เพราะในน้ำนมแม่นั้นมีสาร Nurve Growth Factor เป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาสมองให้แก่ลูก ซึ่งในนมวัว/นมผสมนั้นไม่มีเลย ดังนั้น เด็กที่กินนมแม่เท่านั้นจึงจะได้รับสารตัวนี้ โดยเสนอแนะและสนับสนุนให้ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องนมแม่ในสถานศึกษาด้วย
นอกจากนี้ยังได้เผยผลวิจัยที่น่าทึ่งและน่ายินดีสำหรับสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะโรคกระดูกพรุนนั้นมีน้อยกว่าสตรีที่ไม่ให้ลูกกินนมแม่
ในด้าน ดร.ปารีณา ได้เล่าว่า “จากผู้หญิงที่เคยทำงานอย่างเดียว ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะสามารถดูแลใครได้ กลับสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดูแลลูกควบคู่ไปกับการทำงานนอกบ้าน โดยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ถึง 6 เดือนเต็ม ทำให้รู้สึกว่าเป็นผู้หญิงเต็มตัว เต็มหญิงจริงๆ เพราะประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ช่วยในการพัฒนาสร้างคนคนหนึ่งให้เป็นคนดีของสังคม ถ้าหากทุกคนช่วยกันเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เราก็จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพรอบด้าน”
โดยในด้านกฎหมายคุ้มครองสิทธิที่เกื้อหนุนต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีการกำหนดขึ้น แต่ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในด้านนี้ ก็กำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดยได้ประสานไปยังกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“สำหรับกฎหมายเท่าที่มีอยู่ คือ กฎหมายการลาคลอด ที่กำหนดให้ลาได้ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งก็ให้ประโยชน์แก่แม่ที่ให้นมลูกในระดับหนึ่ง หากแม่จะใช้สิทธิการลาคลอดให้เต็มที่ แต่ก็มีแม่ส่วนหนึ่งที่ลางานเพียง 45 วันเพื่อให้ได้เงินชดเชยจากประกันสังคม แล้วรีบกลับมาทำงานต่อเพื่อที่จะได้รับเงินเดือนเต็มอีก 45 วันที่เหลือจากทางบริษัท เพราะคิดว่าทำแบบนี้จะได้กำไร ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นการสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่าง ก็อยากจะให้คุณแม่ได้ใช้สิทธิตรงนี้อย่างเต็มที่ และอยากให้ผู้ชายเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย” ดร.ปารีณา สะท้อนถึงปัญหาการลาคลอดให้ฟัง
ตลอดการเสวนาโดยวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ได้แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้หญิงว่าสำคัญต่อโลกใบนี้เพียงใด หากแต่ผู้หญิงจะยืนหยัดทำหน้าที่เพียงลำพังคงไม่ได้ จำเป็นที่ผู้ชายจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงด้วยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการเป็น “แม่” ที่จะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังที่ ศ.เกียรติคุณ นพ.วีระพงษ์ เน้นย้ำว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือการสร้างคนสำหรับประเทศ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net