ไทยพาณิชย์ประกาศรุกธุรกิจ SME ภายใต้แนวคิด "พันธมิตรธุรกิจ" จัดกิจกรรมเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday June 4, 2007 14:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พร้อมรุกธุรกิจ SME ตั้งเป้าเป็น 1 ใน 3 ผู้นำในตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ภายใน 3 ปี ภายใต้แนวคิดพันธมิตรธุรกิจ โดยมีการปรับกระบวนการทำงานทุกด้านเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ครบวงจร รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างคุณค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการ จัดสัมมนาแก่ภาคธุรกิจต่างๆ การจัดสัมมนาสำหรับผู้บริหารระดับ CEO (SCB CEO Forum) การให้ข้อมูลเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ โดยล่าสุดเปิดโครงการพัฒนาทักษะเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ SCB Young Entrepreneur Program (SCB-YEP)
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจ SME มากขึ้น โดยเริ่มวางระบบใหม่มาตั้งแต่ปลายปี 2548 และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 สินเชื่อธุรกิจ SME ของธนาคารขยายตัวถึงร้อยละ 36 ในปี 2550 นี้ ธนาคารมีความพร้อมในการรุกธุรกิจด้าน SME โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 1 ใน 3 ผู้นำในตลาดลูกค้ากลุ่ม SME ภายใน 3 ปี ที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับรูปแบบการดำเนินงานในส่วนของ SME ให้ชัดเจนขึ้น โดยได้จัดตั้งกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (Business Banking Group) ขึ้นใหม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ นอกจากนี้ได้ขยายสำนักงานธุรกิจที่ให้บริการลูกค้า SME เป็น 49 แห่ง เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึงทั่วประเทศ ปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อ การบริหารความเสี่ยงสินเชื่อ และการพัฒนาบุคลากร จากปีที่ผ่านมาธนาคารมีบุคลากรที่ดูแลลูกค้า SME เพิ่มสูงขึ้นถึง 30% โดยมีการพัฒนาและจัดอบรมพนักงานอย่างสม่ำเสมอให้มีความรู้ ความชำนาญและเข้าใจธุรกิจของลูกค้าเป็นอย่างดี สามารถให้คำปรึกษาและเสนอบริการด้านการเงินที่ตรงความต้องการของลูกค้าและยังมีแผนที่จะเพิ่มบุคลากรในกลุ่มลูกค้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของลูกค้าให้เติบโตอย่างต่อเนื่องใน รูปแบบ “พันธมิตรธุรกิจ” ที่พร้อมให้การสนับสนุนลูกค้า SME ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาด้านการเงิน การจัดสัมมนาในประเด็นด้านเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่สำคัญๆ การฝึกอบรมให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาธนาคารได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศแล้วมากกว่า 5,000 ราย ในปีนี้ธนาคารได้กำหนดจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี ทั้งการจัดสัมมนาแก่ภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วประเทศ การจัดสัมมนาสำหรับผู้บริหารระดับ CEO (SCB CEO Forum) การให้ข้อมูลเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในเชิงลึก การให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์และการเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจของลูกค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมตลอดทั้งปีกว่า 40 ครั้ง การจัดกิจกรรมและงานสัมมนาของธนาคารไม่ได้มีเจตนาเพียงให้ความรู้เท่านั้น แต่มุ่งที่จะให้ลูกค้าธนาคารในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รู้จักกัน สร้างพันธมิตรทางธุรกิจและต่อยอดธุรกิจซึ่งกันและกัน
ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ได้เปิดโครงการพัฒนาทักษะเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ SCB Young Entrepreneur Program (SCB-YEP) ขึ้น โดยร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อ ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทเจ้าของธุรกิจขนาดกลางให้มีโอกาสเสริมสร้างประสบการณ์นอกตำราและสร้างพันธมิตรธุรกิจระหว่างกัน เน้นการอบรมกลุ่มละไม่เกิน 50 คนต่อรุ่น รุ่นละ 7 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างทั่วถึงทุกรายบุคคล และเนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่ธนาคาร ไทยพาณิชย์ดำเนินธุรกิจครบ 100 ปี จึงได้จัดอบรม 2 รุ่น มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 100 คนจากภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเชิญวิทยากรที่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จและผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์มาร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด
ธนาคารได้มุ่งเน้นนโยบายในการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำที่ให้บริการครบวงจร (Premier Universal Bank) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความพร้อมทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน รวมถึงบุคลากรที่มีความชำนาญและมุ่งมั่นในการให้บริการ และตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพของลูกค้าและผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ SME ในทุกด้าน โดยพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับลูกค้าในฐานะพันธมิตรธุรกิจ เพื่อร่วมผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตบนรากฐานอันมั่นคงต่อไป
พจน์ ใจชาญสุขกิจ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
วัฒนี , ดวงแก้ว โทร. 02-544-4501-3

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ