กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--พพ.
พพ. มั่นใจ ชูโมเดล สมุย กรีน ไอร์แลนด์ ต่อยอดแนวคิดเกาะพลังงานสะอาด จากเกาะพะลวย ยันต่อยอดจากกรอบความร่วมมือเอเปค และการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ส่งเสริมให้เมืองท่องเที่ยวระดับโลกของไทย เป็นเมืองในฝันที่ใช้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบ และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต
นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากที่ พพ. ได้เปิดตัวโครงการเกาะพลังงานสะอาด พะลวยกรีนไอส์แลนด์ ไปเมื่อช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมา โดยต้องการให้เกาะพะลวย เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เกาะห่างไกล โดยผลักดันการผลิตและใช้พลังงานทดแทน และการสร้างวิถีชุมชนพอเพียง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชนและชุมชนในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาให้เป็นเกาะพลังงานสะอาดแห่งแรกของเมืองไทย ปัจจุบัน พพ. พร้อมจะสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา และเตรียมผลักดันให้เกาะท่องเที่ยวของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่างเกาะสมุย และ เกาะพะงัน เป็นเกาะพลังงานสะอาด และพร้อมจะส่งเสริมเมืองสมุยเป็นเมืองที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
ทั้งนี้ แนวทางที่จะผลักดันให้เกาะสมุย ซึ่งเป็นภาพของแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีการใช้พลังงานสูง ให้เป็นเมืองแห่งการใช้พลังงานทดแทน และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น เบื้องต้น พพ. ได้ศึกษาไว้ 4 ประเด็น ได้แก่ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงแรมแต่ละแห่งมุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน และผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนภายในโรงแรมเอง ด้านการคมนาคม เสนอให้มีการขนส่งแบบไม่พึ่งพาการใช้น้ำมัน เช่นการพัฒนาระบบรถรางโมโนเรล หรือส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งในรถส่วนบุคคล และรถสาธารณะรวมทั้งอาจ เชื่อมโยงกับระบบรถ BRT ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ และส่งเสริมให้มีระบบถนนคนเดินและเลนจักรยาน ในทุกอ่าว
นอกจากนี้ จะได้มีการวางแผนและศึกษาการใช้ก๊าซธรรมชาติในเรือเฟอร์รี่รถยนต์ (NGV) รวมทั้งจะได้ส่งเสริมให้มีการใช้NGV เป็นเชื้อเพลิงหลัก หรือจะใช้ร่วมกับน้ำมันไบโอดีเซล B100 และอนาคตคาดว่าอาจจะมีการผลักดันให้ใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบไฮโดรเจนต่อไป
นายไกรฤทธิ์ กล่าวเพิ่มว่า แนวคิดในการศึกษาเกาะสมุย ให้เป็นเกาะพลังงานสะอาด
รวมทั้งแนวคิดการพัฒนาชุมชนสีเขียว สอดคล้องกับหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มชาติเอเปค ที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าวเช่นกัน โดยที่ผ่านมา ได้มีการทำปฏิณญาร่วมกันเพื่อพัฒนาไปสู่ชุมชนต้นแบบที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย หรือโครงการ Apec Low Carbon Model Town ซึ่งเบื้องต้นจะมีประเทศญี่ปุ่น ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาชุมชนสีเขียว และพร้อมให้การสนับสนุนประเทศไทยในด้านการลงทุน ภายในอนาคตต่อไป