กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวของบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ ขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ SF ที่ระดับ “BBB+(tha)” แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะและชื่อเสียงทางการตลาดที่มั่นคงของบริษัทในธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางแบบเปิด และคุณภาพของโครงการศูนย์การค้าที่อยู่ในระดับสูงดังจะเห็นได้จากอัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ย (Average Occupancy Rate) ของศูนย์การค้าที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องถึงกว่า 90% ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนศูนย์การค้าเปิดใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ความหลากหลายของผู้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งโดยบางส่วนอยู่ภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวกับผู้เช่าหลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 54% ของพื้นที่ให้เช่าทั้งหมดในปี 2549 SF มีรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ เพิ่มขึ้น 49% ในปี 2549 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลจากการเปิดดำเนินการเต็มปีของศูนย์การค้าพาวเวอร์ เซ็นเตอร์ (Power Centre) 2 แห่งซึ่งเปิดให้บริการไปเมื่อปลายปี 2548 รวมถึงผลจากการเปิดดำเนินการของศูนย์การค้าแห่งใหม่ในปี 2549
ในปี 2549 พื้นที่ให้เช่าทั้งหมดของ SF ได้ปรับเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มเป็น 188,514 ตารางเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปิดให้บริการศูนย์เอนเตอร์เทนเมนท์ (Urban Entertainment Centre) แห่งใหม่ ซึ่งได้แก่ ศูนย์การค้า เอสพละนาด และศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Centre) อีก 2 แห่ง ซึ่งได้แก่ ศูนย์การค้า ดิ อเวนิว แจ้งวัฒนะ และศูนย์การค้า ลา วิลล่า พหลโยธิน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายพื้นที่ให้เช่าทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละประมาณ 25% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของ SF ได้แก่ แผนการขยายโครงการศูนย์การค้าใหม่อย่างรวดเร็วในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยจะใช้งบลงทุนประมาณ 1.8 พันล้านบาทต่อปี ถึงแม้แผนการขยายโครงการดังกล่าวน่าจะช่วยทำให้ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น แต่หากมีความล่าช้าในการเปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่กว่าที่กำหนดมากอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและระดับหนี้สินของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม SF มีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 671 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 เพื่อใช้ในการเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ ธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าของ SF ยังมีความผันผวนต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับลดลง
ในปี 2549 SF มีรายได้รวม 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 275% เทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากบริษัทเริ่มมีการบันทึกรับรู้รายได้จากสัญญาเช่าทางการเงิน (Finance Leases) จำนวน 1.2 พันล้านบาท และมีรายได้ค่าเช่าและค่าบริการที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดให้บริการศูนย์การค้าแห่งใหม่ นอกจากนี้ บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) 872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211% เทียบกับปีก่อนหน้า ในส่วนของผลการดำเนินงานของ SF ในไตรมาสแรกปี 2549 นั้น บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 88% เทียบกับปีก่อนหน้า และมี EBITDAR เพิ่มขึ้น 27% เทียบกับปีก่อนหน้า
ถึงแม้บริษัทจะมีระดับการลงทุนและระดับของหนี้สินรวมเพิ่มขึ้น อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (Net Adjusted Debt/ Last-twelve-month (LTM) EBITDAR) ของ SF สามารถลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.6 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2550 จาก 6.9 เท่า ณ สิ้นปี 2548 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ EBITDAR ในระดับที่สูง นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน ดอกเบี้ยจ่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (LTM Funds from Operations Adjusted Net Leverage Ratio) และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ย้อนหลัง 12 เดือน (Net Debt/ LTM Cash Flow from Operations) ของบริษัทได้ปรับลดลงเช่นกัน โดยลดลงมาอยู่ที่ 3.6 เท่า และ 3.3 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2550 จาก 8.0 เท่า และ 12.2 เท่า ณ สิ้นปี 2548 ตามลำดับ จากการประมาณการ EBITDAR ที่จะเติบโตขึ้น ประกอบกับเงินมัดจำและเงินค่าเช่าจ่ายล่วงหน้าที่บริษัทคาดว่าจะได้รับจากการเปิดโครงการศูนย์การค้าแห่งใหม่น่าจะช่วยให้บริษัทสามารถบริหารอัตราส่วน Adjusted Net Debt/ EBITDAR ของบริษัทให้อยู่ที่ประมาณ 2.5 เท่า ถึง 3.0 เท่า ในระหว่างปี 2550 และปี 2551 ได้
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SF สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ ถึงแม้จะยังมีแผนการขยายโครงการใหม่ในระดับสูง ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนทางด้านสถานะทางการตลาดที่มั่นคงของบริษัทในธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางแบบเปิดและการคาดการณ์การเติบโตของรายได้ค่าเช่าและค่าบริการจากโครงการใหม่ที่เปิดให้บริการ
ติดต่อ
โสมสิริ ชฎาวัฒน์ +662 655 4753, วสันต์ ผลเจริญ +662 655 4763, Vincent Milton +662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน