กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ไอบีเอ็ม
พร้อมรองรับการเชื่อมโยงบริการด้านการเงินระดับภูมิภาคและระดับสากล
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลงนามกับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในโครงการปรับปรุงระบบบริการด้านการเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Bank of Thailand - Electronic Financial Services : BOT-EFS) เพื่อเสริมประสิทธิภาพและศักยภาพของเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของระบบบริการด้านการเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของ ธปท. ที่ พร้อมสนับสนุนการเปิดเสรีการค้า บริการ และการลงทุน และตลาดการเงินภายในปี 2558
นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธปท. เปิดเผยว่า “เนื่องจากความต้องการใช้บริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยเฉพาะบริการชำระเงิน มีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก ประกอบกับประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ ซึ่งมีประชากรรวมกันราว 580 ล้านคน กำลังเร่งจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปิดเสรีตลาดสินค้าและบริการต่างๆ ทำให้ขนาดของตลาดใหญ่ขึ้น ตลาดเงินตลาดทุนมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ธปท. จึงต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยโครงการปรับปรุงระบบบริการด้านการเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความทันสมัย รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ไทย ได้ประโยชน์เต็มที่จากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และพร้อมรับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยให้ความไว้วางใจในความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของไอบีเอ็ม ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเซอร์วิส คาดว่าเมื่อการปรับปรุงเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้แล้วเสร็จตามแผนการดำเนินงานของธนาคารฯ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และศักยภาพในการให้บริการแก่สมาชิกสถาบันการเงินในประเทศได้มากขึ้น ยกระดับมาตรฐานความก้าวหน้าทางด้านการเงินของประเทศสู่สากล และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในโลกต่อไปได้
ภายใต้แผนการดำเนินงานการเสริมสร้างและพัฒนาระบบการเงินของไทยไปสู่การเป็น Smart Banking ไอบีเอ็มรับหน้าที่จัดหาเทคโนโลยีและวางระบบการชำระเงินให้เป็น Smart Payment ยกระดับสู่มาตรฐานระดับโลกและขยายขีดความสามารถรองรับความต้องการในอนาคต โดยในระยะแรกจะเป็นการปรับปรุงระบบการชำระเงินแบบ Real Time Gross Settlement (RTGS) ซึ่งเป็นแกนกลางที่เกี่ยวข้องกับการชำระแต่ละรายการผ่านบัญชีของธนาคารพาณิชย์ที่เปิดอยู่กับธนาคารกลาง โดยจะตัดเงินจากบัญชีของธนาคารผู้ส่งไปยังธนาคารผู้รับทันที ปัจจุบันมีประเทศที่ใช้ระบบ RTGS แล้วหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (Fedwire) สวิสเซอร์แลนด์ (SIC - Swiss Interbank Clearing) สิงคโปร์ (MEPS — MAS Electronic Payment System) ออสเตรเลีย (RITS — Reserve Bank of Information and Transfer System) เป็นต้น ส่วนของประเทศไทยใช้ชื่อว่า BAHTNET — Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไว้วางใจให้ไอบีเอ็มเป็นพันธมิตรทางด้านไอทีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี ในโครงการนี้ ทีมที่ปรึกษาด้านธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Global Business Consulting) ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์อย่างดี ในธุรกิจการเงินการธนาคาร ได้คอยให้คำปรึกษา และทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ดูแลงานทางด้านไอทีของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจถึงเป้าหมาย และร่วมกับธนาคารในการวางแผนงานระบบบริการด้านการเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างรอบด้าน รวมถึงการเลือกระบบไอทีที่สามารถรองรับวิสัยทัศน์ การให้บริการระดับมาตรฐานโลก และสามารถขยายความสามารถของระบบต่อไปในอนาคต ในส่วนของเทคโนโลยีไอทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกใช้ ฮาร์ดแวร์ไอบีเอ็มเพาเวอร์ซิสเต็มส์ เพาเวอร์ 7 AIX Server (Unix based server) ที่มีความสามารถของระบบที่เหนือชั้น มีเสถียรภาพของเทคโนโลยีการใช้ทรัพยากรแบบเสมือน มีศักยภาพในการควบรวมระบบที่แข็งแกร่ง และซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์สำคัญๆ เช่น WebSphere Message Broker ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของ SOA framework ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว IBM Rational Team Concert (RTC) เป็นเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำที่สามารถทำงานร่วมกับเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้งาน และซอฟต์แวร์Tivoli ช่วยให้มองเห็นการทำงานทั้งหมด ควบคุมการทำงานของทรัพยากรไอที มีกระบวนการควบคุมการทำงานอย่างชัดเจนและเป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของระบบไอที รวมถึงบริการด้านไอทีที่ ช่วยด้านการติดตั้งใช้งาน เพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวของระบบไอทีที่เกี่ยวข้อง ให้ระบบมีเสถียรภาพและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย
ด้วยทีมที่ปรึกษาและการให้บริการระบบที่เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทันสมัย และแข็งแกร่งของไอบีเอ็มดังกล่าว ช่วยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับประโยชน์และมั่นใจได้อย่างเต็มที่ในการจัดเตรียมทรัพยากรด้านไอทีให้มีความพร้อมเสนอบริการสู่สมาชิกสถาบันการเงินได้อย่างรวดเร็วภายใต้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของการประมวลผลสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูงและความสามารถรอบด้าน ในส่วนของซอฟต์แวร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว แม่นยำ ช่วยลดต้นทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิกสถาบันการเงินของไทยได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำที่สามารถทำงานร่วมกับเครื่องมือพัฒนาซอฟต์แวร์ที่นิยมใช้งาน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เพิ่มความเป็นระเบียบแบบแผนในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพิ่มความถูกต้องในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถติดตามความคืบหน้าของโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ตลอดเวลา มีระบบควบคุมและจัดการกระบวนการพัฒนาอัตโนมัติ ปรับปรุงการมองเห็นภาพรวมของโครงการด้วยข้อมูลในแง่มุมต่างๆของโครงการ
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ในโอกาสที่ไอบีเอ็มครบรอบ 100 ปีในปีนี้ ไอบีเอ็มมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก ธปท. ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศที่ได้รับความเชื่อถือในระดับนานาชาติ ให้เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเพื่อรองรับขอบข่ายการให้บริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยความเป็นผู้นำในด้านการนำเสนอโซลูชั่นแบบครบวงจร รวมถึงระบบบริการด้านการเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ล้ำสมัยและปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ทางไอบีเอ็มพร้อมสนับสนุน ธปท. ในทุกด้านในการพัฒนาระบบการเงินของประเทศก้าวไปสู่ยุคใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคต”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
จินรี ตัณมณี โทร. 02 273 4676 chinnare@th.ibm.com