กทม.เดินหน้าแผนการจัดรูปที่ดินตั้ง 9 ศูนย์ชุมชน

ข่าวทั่วไป Monday July 4, 2011 15:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 22/54 สำนักผังเมืองได้รายงานผลการประชุมการจัดทำแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครครั้งก่อนหน้านี้ได้มีมติให้สำนักผังเมืองพิจารณาแนวเส้นทางของระบบขนส่งมวลชน และการขยายแนวถนนสายหลักสำคัญที่ผ่านพื้นที่เป้าหมายและพื้นที่ต่อเนื่องของพื้นที่เป้าหมายบางบริเวณ สำนักผังเมืองได้เสนอแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานครในการประชุมคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 เพื่อให้ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอแนะตามมติของที่ประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมได้มีมติให้ยืนยันขอบเขตพื้นที่เป้าหมายฯ เดิมทั้ง 9 บริเวณ ประกอบด้วย บริเวณที่ 1 เขตที่อยู่อาศัย (ศูนย์ชุมชนสะพานใหม่และพื้นที่ต่อเนื่อง) บริเวณที่ 2 เขตอุทยานนคร (ศูนย์ชุมชนหนองจอก) บริเวณที่ 3 เขตชุมชนใหม่รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ (ศูนย์ชุมชนมีนบุรี) บริเวณที่ 4 เขตพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยในเขตเมืองชั้นใน (ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน) บริเวณที่ 5 เขตชุมชนใหม่รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ (ศูนย์ชุมชนชานเมืองลาดกระบัง) บริเวณที่ 6 เขตเศรษฐกิจของเมือง (ศูนย์คมนาคมมักกะสัน) บริเวณที่ 7 เขตชุมชนใหม่รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ (ศูนย์ชุมชนลาดกระบัง หัวตะเข้) บริเวณที่ 8 เขตควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อมของเมือง (ศูนย์ชุมชนบางขุนเทียน) บริเวณที่ 9 เขตเศรษฐกิจของเมือง (ศูนย์ชุมชนบางนา-ศรีนครินทร์) โดยหลังจากนี้จะได้นำแผนแม่บทฯ เสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดและเสนอคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง แผนแม่บทและพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และแจ้งหน่วยงานตามมาตรา 35 (2) ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมืองและการเคหะแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการจัดรูปที่ดินต่อไป สำหรับวัตถุประสงค์ของการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายการจัดรูปที่ดินฯ นั้น เพื่อพัฒนาโครงข่ายถนนและพัฒนาที่ดินในเมืองที่ยังว่างและไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์และเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ตาบอด ฟื้นฟูพื้นที่กลางเมืองที่เสื่อมโทรม หรือที่อยู่อาศัยบริเวณชุมชนแออัด พัฒนาพื้นที่ย่านชานเมืองเป็นการป้องกันการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ระบบและไร้ทิศทาง จัดพื้นที่ตามการใช้ประโยชน์ที่ดินให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินโครงการพิเศษตามนโยบายของภาครัฐ เช่น พื้นที่โครงการเมืองใหม่ โครงการต่างๆ ฯลฯ ซึ่งมีเกณฑ์ในการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย ประกอบด้วย บริเวณที่อยู่ในทิศทางการขยายตัวของเมืองจากอัตราการเพิ่มของประชากรสูง บริเวณที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตามผังเมืองรวมกทม. บริเวณที่มีแผนพัฒนาที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนา บริเวณที่รองรับความเจริญจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ บริเวณที่มีแผนงานโครงสร้างพื้นฐาน บริเวณที่มีแผนการพัฒนาด้านการจัดรูปที่ดินของหน่วยงานตามมาตรา 35 (2) บริเวณที่มีความเหมาะสมด้านกายกาพ (ไม่ประสบน้ำท่วมขัง) บริเวณที่มีพื้นที่ว่างที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เมือง และบริเวณที่มีอาคารและสิ่งปลูกสร้างเบาบาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ