กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--ก.ล.ต.
ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาลงโทษนายสุรเดช มุขยางกูร อดีตกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) (“IEC”) กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อลวงให้ IEC หรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ กระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของ IEC และกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น โดยให้จำคุก 4 ปี 12 เดือน และปรับ 1,178,250,000 บาท
สืบเนื่องจากวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษนายสุรเดช มุขยางกูร กรณีลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มีข้อความว่าที่ประชุมคณะกรรมการของ IEC ได้อนุมัติให้ IEC เข้าทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของบริษัทเดอะ เอ็ม.กรุ๊ปฯ ต่อธนาคารกรุงไทยฯ ในนามของ IEC อันเป็นกิจการที่เกินขอบเขตที่คณะกรรมการของ IEC ได้กำหนดไว้และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของ IEC ก่อน ทำให้ IEC มีภาระหนี้ค้ำประกันจำนวน 1,178 ล้านบาท อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 307 311 312(2) ประกอบ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่านายสุรเดช มุขยางกูร มีความผิดตามมาตรา 307 311 312(2) และ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยลงโทษ (1) ฐานเป็นกรรมการลงข้อความเท็จในรายงานการประชุมเพื่อลวงให้นิติบุคคลหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ตามมาตรา 312(2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 500,000 บาท และ (2) ฐานเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของนิติบุคคล และ (3) ฐานเป็นกรรมการกระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นตามมาตรา 307 311 ประกอบ 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงลงโทษตามมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้จำคุก 5 ปี และปรับ 2,356,000,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ปรับกระทงละ 250,000 บาท และ 1,178,000,000 บาท ตามลำดับ รวมลงโทษจำคุก 4 ปี 12 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับ 1,178,250,000 บาท
การดำเนินคดีนี้เป็นผลจากความร่วมมือของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 3 สำนักงานอัยการสูงสุด