กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค. (Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสที่ 2 ขาดดุล 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ดุลการคลังภาครัฐขาดดุล 3.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 44.8 ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2554 (มกราคม - มีนาคม 2554) ดุลการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ขาดดุลจำนวน 100,616 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุล 191,995ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 47.6 โดยมีรายได้ทั้งสิ้น 654,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 115,718 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.5 จากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการจัด เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต รวมทั้งรัฐบาลได้จัดสรรและโอนเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. เร็วกว่ากำหนด โดยได้โอนเงินอุดหนุนทั่วไปของช่วงครึ่งปีหลังภายในไตรมาสที่ 2 ส่วนรายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 754,743 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 24,338 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ภาครัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 1,268,782 ล้านบาท(คิดเป็นร้อยละ 11.7 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดี? ?วกันปีที่แล้ว 187,985 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4ขณะที่รายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 1,641,642 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 303,429 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.7 เนื่องจากการเบิกจ่ายของรัฐบาลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 234,100 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุลจำนวน 372,860 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 (ปีที่แล้วขาดดุล 257,416 ล้านบาท)
นายนริศ ชัยสูตร สรุปว่า “การขาดดุลการคลังของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเป็นผลจากจัดเก็บรายได้ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ44.7 ในขณะที่รายจ่ายรวมเป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับดุลการคลังของภาครัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรก ขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนและนโยบายการจัดตั้งงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล”