กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมธนารักษ์เตรียมเปิดศูนย์บริหารจัดการเหรียญแบบครบวงจรประจำส่วนภูมิภาค 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการรับ-จ่ายแลกเหรียญกับลูกค้ารายใหญ่-ย่อย และประชาชน ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบเทคโนโลยีทันสมัย โดยจะนำร่องเปิดบริการที่จังหวัดขอนแก่น และอุบลราชธานี ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2554 เพื่อรองรับการใช้เหรียญทุกชนิดราคารวมเฉลี่ยปีละกว่า 1,200 ล้านเหรียญ
นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้เดินทางลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในการเปิดบริการรับ-จ่ายแลกเหรียญของศูนย์บริหารจัดการเหรียญจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เดิมกรมธนารักษ์มีหน่วยงานให้บริการรับ-จ่ายแลกเฉพาะที่กรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดจะมี
คลังจังหวัดและคลังอำเภอ สังกัดกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับ-จ่ายแลกเหรียญ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว ประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสร้างจุดเชื่อมโยงระบบการประมวลผลจัดการฐานข้อมูล รวมทั้งยังเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอกเพื่อลดขั้นตอน และมุ่งเน้นงานบริการที่ดี กรมธนารักษ์จึงได้สร้างศูนย์บริหารจัดการเหรียญขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยรับ-จ่ายแลกเหรียญ ให้บริการกับบริษัท ห้างร้านขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการเครื่องหยอดเหรียญ และผู้ซื้อขายรายย่อย ที่ปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องมีการเพิ่มจุดบริการรับ-จ่ายแลกเหรียญให้เพียงพอกับความต้องการ และสามารถเข้าถึงผู้รับบริการอย่างครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 6 แห่ง คือ ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา
นายวินัย กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2554 จะนำร่องเปิดให้บริการที่จังหวัดขอนแก่น และอุบลราชธานี เนื่องจากมีความพร้อมด้านสถานที่ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ บุคลากร เครื่องนับและบรรจุเหรียญอัตโนมัติ โดยศูนย์ฯ ขอนแก่น รับผิดชอบ 13 จังหวัดในอีสานตอนบน และศูนย์ฯ อุบลราชธานี อีก 7 จังหวัดของอีสานตอนล่าง และในแต่ละปีมีการรับ-จ่ายแลกเหรียญรวมเฉลี่ยกว่า 1,200 ล้านเหรียญซึ่งเหรียญ 10 บาทใช้มากสุด 41 % รองลงมาเหรียญ 5 บาท 32 % เหรียญ 1 บาท 25 % ส่วนอีก 2 % เป็นเหรียญ 2 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ ตามลำดับ
ปัจจุบันมีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจทุกชนิดราคา ประกอบด้วย เหรียญ 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 2 บาท 5 บาท และ 10 บาท รวมเกือบ 20,600 ล้านเหรียญ คิดเป็นมูลค่าตามราคาหน้าเหรียญเป็นเงินราว 40,300 ล้านบาท ส่วนต้นทุนการผลิตประมาณ 29,000 ล้านบาทอธิบดีกล่าวในตอนท้าย