กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แนะผู้ประกันตนโสดที่ไม่มีทายาท ควรทำหนังสือระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีตายให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการแอบอ้างรับสิทธิประโยชน์ หากไม่มีผู้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเงินส่วนนั้นจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า จากข้อร้องเรียนของผู้ประกันตนที่ได้สอบถามเข้ามายังสำนักงานประกันสังคม เกี่ยวกับเรื่องการทำหนังสือระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ในกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย สำนักงานประกันสังคมขอชี้แจงว่า ตามกฎหมายประกันสังคมมาตรา 73(2) กำหนดให้ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบกรณีตายตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป และเมื่อถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินสงเคราะห์ฯ ให้แก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ฯ นั้น หากผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามี ภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน
ดังนั้น สำหรับผู้ประกันตนที่แต่งงานแล้วมีบุตร หรือมีบิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ หากไม่ประสงค์จะมอบให้ผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิเฉพาะราย จะไม่ทำหนังสือระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีตายก็ได้ เพราะประกันสังคมจะจ่ายเงินดังกล่าวให้ทายาทคนละเท่าๆ กันอยู่แล้ว
แต่สำหรับผู้ประกันตนที่ไม่ได้แต่งงาน หรือบิดามารดาเสียชีวิต และไม่มีทายาท หากประสงค์จะมอบให้แก่บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิรับเงินดังกล่าว ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ในกรณีตาย ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนไม่มีบุคคลที่จะรับสิทธิ เงินดังกล่าวจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงินเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต มีดังนี้ ผู้จัดการศพจะได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 30,000 บาท และทายาทหรือผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์ฯ (กรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 10 ปี ทายาทหรือผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 3 เดือนและกรณีจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ทายาทหรือผู้มีสิทธิจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 10 เดือน ) และเงินบำเหน็จชราภาพ
อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมขอแนะนำให้ผู้ประกันตนที่เป็นโสดทำเป็นเอกสารระบุชื่อผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีตายไว้ล่วงหน้าให้ชัดเจน พร้อมทั้ง กรอกเลขประจำตัวประชาชนของผู้รับสิทธิและพยานให้ชัดเจนด้วย จึงจะถือว่าเอกสารฉบับดังกล่าวถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตัวว่าเป็นผู้มีสิทธิอย่างแท้จริง และให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิเป็นผู้เก็บไว้เอง จะนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมก็ต่อเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต สำหรับผู้มีสิทธิท่านใดยังไม่ได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิต ให้มายื่นขอรับสิทธิภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและ เขตพื้นที่ที่สะดวก หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือตรวจสอบข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 www.sso.go.th