กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
ปริมาณ “ขยะ” ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของชุมชนตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ ที่ยังขาดระบบการจัดการที่เหมาะสม ไม่เพียงแต่จะส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสร้างมลพิษทางอากาศ ทำลายทัศนียภาพในหมู่บ้าน แล้วยังก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นในชุมชน
ชุมชนบ้านเอื้ออาทร ต.ปากบาง อ.เมือง จ.พิจิตร ก็เป็นอีกชุมหนึ่งที่ประสบกับปัญหาในการจัดการ “ขยะ” ที่เกิดขึ้น เนื่องจากตั้งอยู่นอกเขตเทศบาลเมือง ทำให้มีรถเข้ามาเก็บขยะเพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ขยะที่สะสมไว้จำนวนมากจึงเริ่มส่งกลิ่นเหม็นรบกวน ซ้ำยังนำมาซึ่งความขัดแย้งของผู้ที่อยู่อาศัย หลายครอบครัวต้องย้ายออกไปเพราะสภาพแวดล้อมในชุมชนไม่น่าอยู่
แกนนำชุมชนบ้านเอื้ออาทรจึงได้จัดทำ “โครงการชุมชนพอเพียง บ้านเอื้ออาทร ” ขึ้นโดยรณรงค์สร้างจิตสำนึกการคัดแยกขยะก่อนทิ้งให้ถูกต้อง จัดตั้งสหกรณ์รับซื้อของเก่าในชุมชน แต่ก็ยังประสบปัญหากับ “ขยะเศษอาหาร” ซึ่งเป็นตัวการของปัญหาต่างๆ จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลปากทาง มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร มูลนิธินโยบายสุขภาวะจังหวัดพิจิตร และสำนักงานพลังงานจังหวัดพิจิตร จึงร่วมกันจัดทำ “โครงการการจัดการขยะและพลังงานในชุมชนเมือง” เพื่อลดจำนวนขยะ ลดมลพิษ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านก๊าซชีวภาพสร้างพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับชุมชนเมือง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางสาวชนาพัฒน์ อุทัยทรัพย์ หัวหน้าโครงการและแกนนำชุมชนบ้านเอื้ออาทร เปิดเผยว่าชุมชนแห่งนี้ก่อตั้งมาได้ราว 5 ปี และไม่มีระบบการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเกิดมลพิษทั้งทางสายตาและกลิ่น หลายคนไม่อยากให้วางถังขยะหน้าบ้าน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะบางคนก็ใช้วิธีเผาขยะแต่ก็สร้างมลพิษจากกลิ่นและควัน บ้างก็ทิ้งเศษอาหารลงท่อน้ำทิ้งก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ทำให้ภาพรวมของชุมชนไม่น่าอยู่อาศัย โดยสิ่งสำคัญในการดำเนินงานคือการปลูกจิตสำนึกของชาวบ้านในการอยู่ร่วมกัน
“ทางแกนนำและสมาชิกโครงการชุมชนพอเพียงจึงได้มีแนวคิดที่จะนำขยะจากเศษอาหารมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในชุมชน ซึ่งนอกจากจะลดปัญหาขยะที่เน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นได้แล้ว ชุมชนก็ยังมีพลังงานทางเลือกไว้ในการประกอบอาชีพของกลุ่มแม่บ้าน และสร้างอาชีพที่ต่อยอดมาจากการเก็บขยะ เช่นการผลิตวัสดุรีไซเคิล การทำปุ๋ยชีวภาพจากกากขยะที่เหลือจากการผลิตก๊าซ รวมไปถึงการสร้างเตาเผาถ่านเพื่อเผาเศษกิ่งไม้ในหมู่บ้าน สร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง” นางสาวชนาพัฒน์กล่าว
โดยแกนนำชุมชนได้ไปศึกษาดูงานด้านพลังงานทดแทนและก๊าซชีวภาพ แล้วนำกลับมาพัฒนาใช้ในหมู่บ้าน โดยได้นำร่องจัดทำถังหมักก๊าซขนาด 200 ลิตร จำนวน 12 ชุด และถังหมักก๊าซขนาด 1,000 ลิตรจำนวน 5 ชุด มอบให้กับครอบครัวต้นแบบเพื่อทดลองใช้ในครัวเรือน และยังได้จัดสร้างบ่อหมักก๊าซชีวภาพของชุมชนขนาด 4 ลูกบาศก์เมตรจำนวน 2 บ่อ เพื่อนำพลังงานที่ได้ไปใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ไปใช้ในวิสาหกิจชุมชน เช่นการแปรรูปอาหาร ผลิตขนมปังเลี้ยงปลา และนำกากที่เหลือจากการหมักไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพใช้ในครัวเรือนหรือขายในนามของชุมชน สำหรับถ่านและน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากเตาเผาถ่าน ก็จะนำไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้ไปใช้การพัฒนาชุมชน
นายพันธ์ศักดิ์ กลิ่นสุคนธ์ สมาชิกชุมชนบ้านเอื้ออาทร เล่าว่าตนเองประกอบอาชีพขายไก่ต้มน้ำปลา จากเดิมต้องปล่อยน้ำที่ใช้ล้างทำความสะอาดไก่ทิ้งลงในท่อน้ำทิ้ง แต่พอเข้าร่วมโครงการก็ได้รับถังก๊าซขนาด 1,000 ลิตร ไปใช้กักเก็บของเสียทั้งหมดที่เกิดจากผลิต เพื่อทดลองผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ
“ทั้งขี้ไก่ เลือดไก่ น้ำล้างไก่ ที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีราคาก็เกิดมีคุณค่าโดยนำเอาไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซได้ โดยเศษอาหารในแต่ละวันที่เติมลงไปในถังหมักจะได้ก๊าซชีวภาพใช้งานอย่างต่อเนื่องวันละประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทุกวันนี้ทำกับข้าวไม่ต้องใช้ก๊าซหุงต้มเลย ประหยัดค่าก๊าซไปได้มากกว่าเดือนละ 1 ถัง ที่สำคัญยังช่วยลดมลภาวะในชุมชน ลดปริมาณน้ำเสียที่เมื่อก่อนต้องปล่อยทิ้งลงท่อไป ที่บ้านก็ไม่มีกลิ่นเหม็น และช่วยลดมลภาวะในพื้นที่ของเราได้อีกด้วย” นายพันธุ์ศักดิ์ระบุ
นายบุญเลิศ จุ้ยทัศน์ แกนนำชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเล่าให้ฟังว่า เมื่อได้ไปดูงานก็นำกลับมาทดลองผลิตถังก๊าซขนาด 200 ลิตรเพื่อไว้ใช้เองในบ้าน ปกติจะใช้ก๊าซหุงต้มประมาณ 2 เดือนต่อ 1 ถัง ตั้งแต่นำเศษอาหารในบ้านมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ จนถึงวันนี้ยังไม่ได้ซื้อก๊าซหุงต้มใช้มานานกว่า 3 เดือนแล้ว
“พอทดลองใช้แล้วก็ไม่น่ากลัว เพราะระบบก๊าซดูแลง่าย ปลอดภัย ใช้เนื้อที่ในการติดตั้งไม่มาก แต่มีประโยชน์หลายด้าน ช่วยประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มไปได้เดือนละ 150 บาท ปุ๋ยที่เหลือจากการผลิตก๊าซก็ยังนำไปใช้ปลูกพืชผักสวนครัวในบ้านได้อีก ต้นไม้ก็งอกงามดี ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องกับข้าวไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนด้วย” นายบุญเลิศกล่าว
นางสาวจันจิรา ตาสว่าง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานพลังงานจังหวัดพิจิตร กล่าวถึงการจัดทำบ่อและถังหมักก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารของชุมชนว่า เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก ชาวบ้านสามารถประกอบขึ้นได้เองจากวัสดุที่มีในท้องถิ่นได้โดยมีต้นทุนไม่สูงมาก แต่มีประโยชน์แก่ชุมชนมากกว่าที่คิด
“ก๊าซชีวภาพมีข้อดีคือทำให้ชุมชนสามารถประหยัดพลังงานเรื่องก๊าซหุงต้มในครัวเรือน ชาวบ้านมีพลังงานทางเลือกไว้ใช้งาน เกิดการรวมกลุ่มสร้างงานสร้างอาชีพ แกนนำที่เข้ารับการอบรมยังสามารถประกอบอาชีพเป็นช่างสร้างบ่อหมักหรือถังหมักก๊าซให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจได้ ที่สำคัญยังเป็นการปลูกฝังหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงคือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ ให้ชาวบ้านรู้จักคัดแยกสิ่งของเหลือใช้ในชุมชนให้สามารถนำกลับมาเป็นประโยชน์ ไม่เกิดขยะที่จะก่อมลพิษในชุมชน” นางสาวจันจิราระบุ
“เพราะกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นจากขยะ ทำลายสุขภาพจิต มองไปทางไหนก็ไม่สบายหูสบายตา ทางแกนนำชุมชนอยากเห็นชาวบ้านมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น เพราะเชื่อว่าคนเราถ้าไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ ทุกอย่างในชีวิตก็จะดีหมด เพราะถ้าทุกคนมีสุขภาพจิตดี ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องไปหาหมอ ก็เท่ากับว่าช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างในชีวิต และเราอยากเห็นคุณภาพสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านดีขึ้น เพราะที่นี่เป็นที่อยู่ที่ตายของทุกๆ คน จึงอยากให้ทุกคนได้หันมามองสิ่งที่อยู่รอบตัวว่าเราจะทำบ้านของเราชุมชนของเรามีสภาพแวดล้อมที่ดี มีบ้านที่สะอาด และมีลมหายใจที่สะอาด” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป