สถาบันคุ้มครองเงินฝากฉายภาพระบบแบงก์ไทยมีความแข็งแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2011 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--สถาบันคุ้มครองเงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝากฉายภาพแบงก์ไทยทั้งระบบมีความแข็งแกร่ง ผลการดำเนินการ/อัตราส่วนเงินกองทุนต่อ สินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับที่ดี - เอ็นพีแอลต่ำ ผู้ฝากสบายใจหายห่วง พร้อมรับมือการลดสัดส่วนคุ้มครองเงินฝากเริ่มดีเดย์ 11 ส.ค.54 นี้ นายสิงหะ นิกรพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ให้ความเห็นถึงความพร้อมของสถาบันการเงินไทยใน การรับมือกับการเริ่มลดสัดส่วนการคุ้มครองเงินฝากในวันที่ 11 ส.ค.54 โดยเริ่มลดการคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝาก และในวันที่ 11 ส.ค.55 ลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากว่าปัจจุบันภาพรวมของสถาบันการเงินของไทยนั้น มีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ โดยสถาบันการเงินไทยที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย 17 แห่ง สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ 15 แห่ง บริษัทเงินทุน 3 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง “ภาพรวมสถาบันการเงินของไทยในปัจจุบันถือว่ามีเสถียรภาพมากเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 โดยสามารถสร้างกำไรได้ในระดับที่ดี สินเชื่อยังคงขยายตัว ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด” นายสิงหะกล่าว ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2554 มีกำไรสุทธิ กว่า 3.4 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 17.8 ทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย สำหรับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ขณะที่สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 13.4 โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจและการลงทุนแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการ SME ในเกือบทุกภาคธุรกิจ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL) ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 54 มียอดคงค้างอยู่ที่ 3.0 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่เป็นอัตราส่วนใช้วัดความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบัน การเงิน เพื่อแสดงถึงความมั่นคง และสามารถรองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจนั้น ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2554 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ15.8 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับอัตราส่วนที่ ธปท.กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5 ตามที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากเริ่มมีผลบังคับใช้และให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 โดยวงเงินคุ้มครองที่เหมาะสมหลังจากที่ศึกษามาอย่างดีแล้วคือวงเงิน 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนค่อยๆ ปรับตัว จึงมีการกำหนดให้ทยอยลดวงเงินคุ้มครอง โดยในขั้นแรกจะลดลงเหลือ 50 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2554 และขั้นต่อไปจะเหลือ 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 นายสิงหะกล่าวเพิ่มเติมว่า “การลดวงเงินคุ้มครองในช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศและฐานะการเงินของสถาบันการเงินมีความมั่นคงแข็งแกร่ง ดังนั้นประชาชนผู้ฝากเงินจึงสามารถเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และไม่ควรตื่นตระหนกจากการปรับลดวงเงินคุ้มครอง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ