กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ ร่วมมือกับเอ็กซิมแบงก์ เสริมความรู้นักธุรกิจไทยให้พร้อมก้าวไปสู่การลงทุนใน 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้าจากผู้บริโภค 600 ล้านคน สศช.แนะไทยวางยุทธศาสตร์ ความร่วมมือกรอบอาเซียนเบิกทางสู่เวทีระดับโลก คาดดันตัวเลขลงทุนต่างชาติในไทยพุ่ง
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานสัมมนาเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การลงทุนไทยใน AEC” เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2554 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น จัดโดย บีโอไอ ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ว่า การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ อยู่ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่กำหนดให้มุ่ง เน้นการพัฒนาฐานการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการแปรรูปการเกษตร และการท่องเที่ยว รวมถึง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เพื่อสร้างโอกาสและลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีระดับโลก
ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว จำเป็นต้องเร่งให้ความรู้และความเข้าใจเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการที่ประสงค์จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในด้านทักษะการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ทักษะด้านภาษา ขัอมูลกฎหมาย รวมถึงประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงข้อมูล ข้อเท็จจริง และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนหรือทำธุรกิจในต่างประเทศต่อไป
“บีโอไอพร้อมจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันบูรณาการแผนกิจกรรมต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกอบการไทย โดยมั่นใจว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนหรือทำธุรกิจในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ” นายโชคดีกล่าว
ทางด้าน ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษภายในงาน ในหัวข้อเรื่อง“ยุทธศาสตร์การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการลงทุนใน AEC” ว่า การสร้างฐานทางเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ระดับ อนุภูมิภาค อาเซียน และในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค อาทิ การเชื่อมโยงการขนส่งโลจิสติกส์ พัฒนาคนในสาขาการผลิต, สร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งเสริมแรงงานไทยใน ต่า งประเทศ เป็นต้น
“ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาคของไทย จำเป็นต้องครอบคลุมประเด็นการพัฒนาและปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะความร่วมมืออาเซียน ที่จะรวมตัวเป็นตลาดเดียวกันในปี 2558 นี้จะเป็นส่วนสำคัญของการนำไปสู่ความร่วมมือในระดับใหญ่ขึ้น เพราะนอกจากจะเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และการขยายตลาด ของไทยจาก 60 ล้านคน เป็นเกือบ 600 ล้านคน ยังก่อให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงยังจะเป็นโอกาสให้ไทยได้รับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากขึ้นอีกด้วย” ดร.ณรงค์ชัย กล่ าว
ขณะที่นายสมพร จิตเป็นธม รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่า เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่จะม ีการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของ 10 ประเทศสมาชิก ในปี 2558 นี้ ซึ่งจะทำให้อาเซียน เป็นตลาดการค้าและการลงทุนเดียวกันครอบคลุมความร่วมมือทั้งด้านการค้า การบริการและการลงทุน จะเป็นส่วนสำคัญทำให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น จากโอกาสของการลดต้นทุนแรงงาน และการขยายการลงทุนเข้าไปยังประเทศที่มีแหล่งวัตถุดิบ ที่สามารถป้อนการผลิตได้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จำเป็นต้องร่วมกันให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากมีทั้งโอกาสจากขนาดตลาดใหญ่ ที่เป็นผลดีสำหรับการส่งออก อย่างไรก็ตามต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นในอนาคตไปพร้อมกันด้วย
ด้าน นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานสภาธุรกิจไทย-อินโดนีเซีย กล่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่และน่าสนใจสำหรับการลงทุนของไทย โดย เฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่ม พลังงาน อุตสาหกรรมการเกษตร แปรรูปสินค้า อาหาร ก่อสร้าง โรงพยาบาล การขนส่ง ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
“อินโดนีเซียมีแนวโน้มการขยายตัวของตลาดชนชั้นกลางในอัตราค่อนข้างสูง จึงทำให้มีพลังของการใช้จ่ายขยายตัวต่อเนื่อง โดยทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ในปี 2554 นี้คาดว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะอยู่ที่ประมาณ 5.8% จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในการเข้าไปหาลู่ทางการลงทุนอีกมาก” นายนิพิฐ กล่าว