กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
“เพศ” เป็นต้นตอของการเกิดปัญหาต่างๆ ในสังคม ด้วยเพราะมายาคติทางเพศที่ถูกสร้างขึ้นมาทำให้เกิดการแบ่งแยก กีดกัน กดขี่ข่มเหง จนนำไปสู่การกระทำความรุนแรงทางเพศ อันก่อให้เกิดปัญหาสุขภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การท้องไม่พร้อม การทำแท้ง การรุมโทรมข่มขืน เป็นต้น
พฤติกรรมเหล่านี้เกิดมาจากความเชื่อ ค่านิยมผิดๆ ที่ได้ยินได้ฟังมาโดยขาดการวิเคราะห์ไตร่ตรองด้วยเหตุผลและปัญญา ปัญหาเหล่านี้จึงเกิดขึ้นและสั่งสมมาจนยากที่จะแก้ไขได้โดยง่าย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนจะต้องได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้ในเรื่องทักษะชีวิตที่จะสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความสุขในการใช้ชีวิตและนำไปสู่การเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศที่ดี
กลุ่ม Rainbow Dream จังหวัดเชียงใหม่ และ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) จึงได้ร่วมกับ กลุ่มปลูกระดม เยาวชนไทยพื้นราบในเขต ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กลุ่มฉ่อโขแย เยาวชนกะเหรี่ยงในเขต บ้านผาผึ้ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และ กลุ่มละอ่อนดอย เยาวชนอาข่าในเขตพื้นที่ ต.นายาว อ.เมือง จ.เชียงราย ดำเนินงาน โครงการ “ด้วยดวงใจเปี่ยมรัก : เยาวชนกับการสื่อสารเรื่องสุขภาวะทางเพศในชุมชน” ขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ความเข้าใจ ในเรื่องสุขภาวะทางเพศที่ถูกต้อง และส่งเสริมให้กลุ่มแกนนำเยาวชนสามารถเรียนรู้เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจในแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สามารถนำไปสื่อสารกับบุคคลอื่นในชุมชนได้ และนำความรู้ไปปรับใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายกีรติ กานต์เตชาวัฒนากูล หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า การสื่อสารเรื่องสุขภาวะทางเพศก็คือ การสร้างความเข้าใจเรื่องเพศ ความแตกต่างของเพศ และทัศนคติเรื่องเพศให้แก่เยาวชน เพราหากเราไม่เข้าใจเรื่องเพศ ก็จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น การท้องโดยไม่พร้อม อยู่กันเป็นคู่ก่อนแต่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการยอมรับในความเป็นตัวเอง อย่างเรื่องของเพศที่สามที่ทำอย่างไรจึงจะเกิดการยอมรับและเข้าใจในความเป็นเพศของคนกลุ่มนี้ได้
“เพราะประเด็นปัญหาเหล่านี้ถูกทับซ้อนกันอยู่ เราจึงมารื้อความคิดความและเชื่อเหล่านี้ว่าจริงๆ แล้วทุกเพศมีความเท่าเทียมกันหมด มีอยู่ในธรรมชาติ แต่ทำไมเราไม่เคยเรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่นที่แตกต่างจากเรา โดยในกิจกรรมก็จะตั้งคำถามให้กับเด็กๆ ว่า คุณคิดว่าเพศมีกี่เพศในโลกนี้ แล้วก็ชี้ให้เห็นตัวอย่างว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ซึ่งพอเราเปิดให้เขาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยนำเรื่องใกล้ตัวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แล้วชี้ให้เห็นว่าแล้วทำไมเราถึงโดนสอน สร้าง และสั่งให้เป็นแบบนี้ เพราะมันมีปัจจัยในเรื่องอำนาจทางสังคม ทัศคติ การศึกษา สิ่งแวดล้อม หลายเรื่องมาประยุกต์กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กเคยเรียนรู้มาอยู่แล้ว เป็นความรู้ที่อยู่ในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่เราไปกระตุ้นให้เขาได้คิด และมองเรื่องเพศในมุมที่แตกต่างออกไป” นายกีรติกล่าว
โดยทาง กลุ่ม Rainbow Dream ได้จัดกิจกรรม “ค่ายดวงใจเปี่ยมรัก” ให้กับเยาวชนในแต่พื้นที่เพื่อให้เยาวชนเกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องสุขภาวะทางเพศ และสามารถถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ไปสู่บุคคลอื่นๆ รอบตัวได้ รวมถึงยังจัดให้มีกิจกรรมรณรงค์สื่อสารความรู้เรื่องเพศในแต่ละชุมชน ผ่านป้ายผ้าที่เขียนข้อความกระตุ้นให้คนอื่นๆ ได้ตระหนักและเกิดคำถาม เช่น “ลูกคุณเป็นตุ๊ด เกย์ หรือเปล่า?” นอกจากนี้ยังได้จัดทำ “หนังสั้น” เรื่อง “รักออกแบบได้” ซึ่งพลอตเรื่องเกิดจากเยาวชนที่ต้องการสื่อความเข้าใจในเรื่องของความรักซึ่งอาจจะไม่ได้มีเพียงแค่หญิงกับชาย ซึ่งความเข้าใจและทัศนคติกับเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราต้องเข้าใจตัวของตนเองก่อน
นางสาวชัญญา ธวิตอังกูร หรือ “น้องลูกปัด” อายุ 18 ปี แกนนำเยาวชนจากโครงการดวงใจเปี่ยมรักเล่าว่า เรื่องสุขภาวะทางเพศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ ตัวของเราเองก็ควรให้ความสนใจ และพ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม
“อยากให้ผู้ใหญ่มีความเข้าใจ และยอมรับลูกที่เป็นเพศที่สามมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ เพราะถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็นแล้ว ก็จะทำให้เกิดความไว้วางใจกันภายในครอบครัว พ่อแม่ก็จะเป็นที่พึ่งทางใจของลูก เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นกับตัวของเขา เขาก็จะนึกถึงเราเป็นคนแรก และไม่หันไปหาหนทางในการแก้ปัญหาแบบผิดๆ” น้องลูกปัดกล่าว
ด้าน นางสาวมัลทิกา เร็วงาม หรือ “น้องมายด์” อายุ 18 ปี บอกว่า การเป็นเพศที่สาม ไม่ว่าจะเป็น เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย แต่การเป็นคนดีต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ หลายคนก็เป็นคนเก่งที่มีความรู้ความสามารถด้วย
“อยากให้ทุกคนเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัว เพราะสถาบันครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับทุกคน เพราะนอกจากจะทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แล้วยังเป็นที่พึ่งทางใจได้อีกด้วย ถ้าครอบครัวมีเข้าใจก็น่าจะช่วยให้ทำปัญหาต่างๆ ลดน้อยลงได้” น้องมายระบุ
ส่วนแกนนำอย่าง “น้องปอย” หรือ นางสาวจิรพรรณ์ เลาดี อายุ 18 ปี เล่าถึงข้อดีของการเข้าร่วมในโครงการนี้ว่า การนำเสนอความรู้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ทำให้ทุกคนรู้จักตัวเองมากขึ้น ไม่ใช้เรื่องเพศมาปิดกั้นความเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก
“ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ทำให้สังคมเกิดการยอมรับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้ทุกคนไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป และทำให้เรายอมรับในสิ่งที่เพื่อนๆ เป็นได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เพศชาย หญิง เกย์ ตุ๊ด ทอม ดี้ ก็ไม่เป็นไร แต่ที่สำคัญคือจะต้องเป็นคนดีของสังคม” น้องปอยกล่าว
“เยาวชนแกนนำที่เข้าร่วมโครงการนี้จะเกิดความเข้าใจใน 3 ประเด็นหลักคือ เข้าใจตนเอง เพราะบางคนยังไม่เข้าใจว่าตนเองเป็นเพศอะไร เข้าใจผู้อื่นรู้และเข้าใจในเพื่อนที่แตกต่างจากเรา และการเข้าใจสังคม เพราะการอยู่ในสังคมที่มีกรอบ เยาวชนจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยว่ากรอบ กติกาต่างๆ ในสังคมมีที่มาอย่างไร เพราะเมื่ออยู่ในสังคมจะทำตัวเองแตกต่างก็ไม่ถูกต้อง เมื่อ 3 ข้อมารวมกัน ก็จะเกิดคำว่าความสุขอยู่ตรงกลาง เยาวชนจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ดังนั้นเราต้องมองทั้ง 3 ด้าน คำว่าสุขภาวะทางเพศ จึงแปลว่า เรียนรู้เรื่องเพศอย่างไรให้มีความสุข ทำให้มีความสุขกับตนเอง มีความสุขกับผู้อื่น อยู่ในสังคมได้” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.