กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี
เพชรบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งเป็นศูนย์รวมของศิลปินและครูช่างพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่นนับรวมกันได้ถึง10 แขนง โดยเรียกรวมกันว่า “งานสกุลช่างเมืองเพชร” ที่ประกอบไปด้วย งานจิตรกรรม, งานปั้นหัวโขน, งานปูนปั้น, งานตอกกระดาษ, งานแทงหยวก, งานตอกหนังใหญ่, งานแกะสลักไม้, งานปั้นหัวสัตว์, งานลงรักปิดทอง และงานลายรดน้ำ
ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามสืบทอดศิลปะพื้นบ้านสกุลช่างเมืองเพชรแขนงต่างๆ เหล่านี้ให้กับเยาวชนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ แต่เมื่อเป็นการเรียนเพื่อทำข้อสอบหรือส่งงานไม่ได้ถูกนำไปใช้ในชีวิตจริง องค์ความรู้ที่มีค่าเหล่านั้นจึงไม่ได้ถูกนำติดตัวกลับออกมาจากห้องเรียน
“กลุ่มลูกหว้า” ซึ่งเป็นเยาวชนลูกหลานคนเมืองเพชร ที่มีการรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อทำกิจกรรมสืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชรบุรีภายใต้โครงการ “สืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชร” โดยไปเรียนรู้งานช่างจากครูภูมิปัญญาท้องถิ่น 4 งาน คือ งานตอกลายกระดาษ งานปูนปั้น งานเขียนลายรดน้ำ และ งานตอกหนัง แล้วนำมาจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้สร้างความสนใจให้กับนักท่องเที่ยว ผู้นำท้องถิ่น เยาวชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างกระแสการอนุรักษ์งานช่างพื้นบ้านให้เกิดขึ้นในจังหวัดได้เป็นอย่างดี และเพื่อเป็นการขยายผลกลุ่มลูกหว้าให้เป็นผู้นำในการสืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชรในสาขาอื่น ๆ ที่กำลังขาดแคลนผู้สืบทอด “โครงการลูกหว้าสืบสานงานสกุลช่างเมืองเพชร” ตอน “พาเพื่อน ขับเคลื่อนงานช่าง” จึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายจำลอง บัวสุวรรณ์ อาจารย์โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นแนวคิดของกลุ่มลูกหว้าซึ่งเป็นเยาวชนลูกหลานคนเมืองเพชรที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อเผยแพร่งานสกุลช่างเมืองเพชรให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป โดยกิจกรรมแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกก็คือการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้งานช่างเมืองเพชรจากครูช่างแขนงต่างๆ ส่วนที่สองจะนำความรู้เหล่านั้นมาจัดกิจกรรมเผยแพร่กับนักท่องเที่ยว ด้วยการทำพวงมโหตรและการตอกลายกระดาษ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถทำได้โดยง่ายและใช้เวลาไม่นานมาก
“ในอดีตการสืบสานงานช่างหรืองานศิลปะพื้นบ้านมักจะสอนอยู่แต่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในชีวิตจริงจึงทำให้เด็กไม่ใส่ใจ จึงแนวคิดใหม่ว่า ถ้าให้เด็กได้นำความรู้ที่ได้รับมาเผยแพร่ให้กับคนอื่นๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว เด็กก็จะสนุก เกิดแรงจูงใจในการทำงาน โดยพลังสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ได้ขับเคลื่อนโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ปีก็คือคำชื่นชมจากนักท่องเที่ยว” อาจารย์จำลองกล่าว
โดยทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 เยาวชนกลุ่มลูกหว้ากว่า 30 คนจะมารวมตัวกันบริเวณลานกิจกรรม ณ สถานีรถรางไฟฟ้าเพชรบุรี หรือ “เขาวังเคเบิลคาร์” เพื่อชักชวนประชาชนที่สนใจ มาร่วมสืบสานและเรียนรู้งานสกุลช่างเมืองเพชร “งานตอกกระดาษ” ผ่านการทำ “พวงมโหตร” ซึ่งเป็นพวงดอกไม้ที่ทำจากกระดาษว่าวสีสันต่างๆ และ “ธงราว” ที่เป็นรูป 12 นักษัตร ที่ใช้คู่กันเพื่อประดับประดาตกแต่งห้อยระย้าตามงานบุญประเพณีต่างๆ มอบให้เป็นของที่ระลึกจากเขาวังแก่นักท่องเที่ยว
นางสาวสุนิสา ประทุมเทือง หรือ “หนูแดง” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศฯ หัวหน้ากลุ่มลูกหว้าเล่าให้ฟังว่า กลุ่มลูกหว้ามารวมตัวกันเพื่อเรียนรู้งานช่างเมืองเพชร เนื่องจากงานสกุลช่างเมืองเพชรเริ่มเหลือน้อยและสูญหายไปจากเมืองเพชรบุรี โดยในปีที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ไปศึกษางานช่างเมืองเพชรสาขาต่างๆ ทั้ง 10 งานช่าง แล้วก็นำมาเผยแพร่โดยให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม
“ในฐานะที่เราเป็นลูกหลานเมืองเพชรคนหนึ่ง จึงคิดที่จะสืบสาน เพราะเมื่อเราได้เรียนรู้แล้วก็อยากจะเผยแพร่ให้คนอื่นๆ ได้รู้ด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยสืบสานงานช่างอีกทางหนึ่ง โดยจะชวนนักท่องเที่ยวมาทำพวงมโหตร ตอกกระดาษทำธงราวรูป 12 นักษัตร และสานปลาตะเพียน นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการปั้นหัวโขน เขียนลายหัวโขน การแทงหยวก และงานช่างแขนงอื่นๆ ให้ชมด้วย” หนูแดงกล่าว
นางสาวภริตา อ่วมจันทร์ หรือ “น้องนัท” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนคงคาราม แกนนำกลุ่มลูกหว้า ที่ทำหน้าที่คอยชักชวนนักท่องเที่ยวให้มาทดลองทำพวงมโหตรและธงราวเล่าว่า เวลาที่ไปชวนนักท่องเที่ยวก็รู้สึกสนุกและมีความสุข ที่สำคัญยังได้ความรู้ในเรื่องอื่นๆ จากการพูดคุยกับนักท่องเที่ยวด้วย
“ได้มาเจอกับนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ไม่ซ้ำหน้า ทำให้เรากล้าพูดกล้าคุยมากขึ้น กล้าแสดงออก เราก็มีความสุข เขาก็มีความสุข ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวก็จะถามว่าพวกมโหตรคืออะไรก็จะอธิบายว่า ใช้ในการประดับในงานบุญงานบวช เช่นเดียวกับธงราวที่ใช้คู่กัน ส่วนที่เรียกว่าพวกมโหตร มาจากคำว่ามโหฬารตระการตา หรือแปลว่าพวงอุบะ ซึ่งแปลต่อไปได้อีกว่าเป็นพวงดอกไม้ ซึ่งนักท่องเที่ยวนอกจากจะได้รู้วิธีทำแล้วก็ยังได้รู้ถึงเรื่องราวและความเป็นมาของงานช่างแขนงนี้ด้วย” น้องนัทระบุ
ด้านแกนนำกลุ่มลูกหว้ารุ่นที่สองอย่าง “น้องต่าย” หรือ เด็กหญิงณัฏณิชา กลิ่นทิพย์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศฯ ที่ชื่นชอบงานช่างแขนงการแทงหยวก เล่าว่านอกจากจะได้ความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานช่างสาขาต่างๆ แล้วมากขึ้นแล้วยังเกิดความภาคภูมิใจอีกด้วย
“กิจกรรมตรงนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องงานสกุลช่างของเมืองเพชรแขนงอื่นๆ ไปด้วย มีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้ความจากสุขนักท่องเที่ยวที่มาร่วมกิจกรรม เพราะหลายคนอาจไม่เคยทำมาก่อน แต่พอทำเสร็จเขาก็ภูมิใจที่ทำได้ พอเราเห็นนักท่องเที่ยวมีความสุขเราก็รู้สึกภูมิใจและดีใจกับตัวเขาไปด้วย นอกจากนี้ก็ยังทำให้มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศจากคนที่มาร่วมทำกิจกรรม” น้องต่ายกล่าว
“เด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมนอกจากจะได้รับความรู้เรื่องงานสกุลช่างเมืองเพชรแล้ว ยังได้เรียนรู้รูปแบบการทำงานรวมกันเป็นกลุ่ม รู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และอยากจะให้สังคมได้มองเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนของไทยเรา มีความสามารถ มีพลัง มีศักยภาพพอที่จะทำงานใหญ่ๆ ได้ ถ้าหากเราสนับสนับสนุนเขาและเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกซึ่งความสามารถของพวกเขาเองอย่างเต็มที่ โดยที่มีผู้ใหญ่เป็นผู้สนับสนุน” อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป.