สสส.หนุนชุมชนพึ่งพาตนเองด้าน “พลังงาน” ลดรายจ่ายสร้างรายได้ด้วย “ถ่าน” จาก “ชีวมวล”

ข่าวทั่วไป Thursday July 7, 2011 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี การพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในอดีตที่ผ่านมา ได้มุ่งเน้นไปที่การใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่งผลให้พลังงานเหล่านี้เข้าไปมีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบทมากขึ้น เนื่องเพราะความสะดวก รวดเร็ว ใช้งานได้โดยง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ชาวบ้านมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมากขึ้น ทั้งๆ ที่ในหลายพื้นที่ของประเทศมีศักยภาพในด้าน “พลังงานทางเลือก” ที่สามารถลดรายจ่ายลงได้ ดังตัวอย่างผลการสำรวจมูลค่าการใช้พลังงานของเกษตรกรจำนวน 98 ครอบครัวจากทั้งหมด 406 ครัวเรือนของ บ้านหนองแวงจุมพล บ้านหนองแวงศรีวิไล และบ้านหนองแวงศรีชมพู อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี พบว่ามีค่าน้ำมันเดือนละ 441,000 บาท ค่าไฟฟ้า 16,170 บาท ค่าก๊าซหุงต้ม 29,610 บาท ค่าถ่านและฟืน 13,920 บาท รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึง 5 แสนบาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยครอบครัวละ 5,100 บาทต่อเดือน โดยเฉพาะพลังงานจากถ่านและฟืน พบว่ามีมูลค่าการใช้งานรวมกันสูงถึง 167,040 บาทต่อปี จากตัวเลขค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานของชาวบ้านที่ค่อนข้างสูงมาในแต่ปีนี่เองจึงทำให้ กลุ่มเกษตรกรไร่นาสวนผสม บ้านหนองแวงศรีวิไล รวมตัวกันจัดทำ “โครงการวิจัยการจัดการพลังงานชีวมวลเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานท้องถิ่น จังหวัดอุดรธานี” ขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยค้นหาพลังงานในรูปแบบอื่นๆ มาใช้ควบคู่กับการใช้ก๊าซหุงต้มที่เหมาะสมกับชุมชน เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงาน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานจากวัสดุที่มีในท้องถิ่น ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือกที่ชุมชนสามารถมีส่วนร่วม โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ ขวาโยธา หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลพบว่าทั้ง 3 หมู่บ้านอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้บนเทือกเขาภูพานน้อยที่ตั้งอยู่โดยรอบของชุมชน ประกอบกับชาวบ้านส่วนหนึ่งมีอาชีพทำสวนมะม่วงและลำไย ทำให้มีกิ่งไม้จำนวนมากที่เหลือการตัดแต่งกิ่งไม้ และมีการปลูกไม้ยูคาตามหัวไร่ปลายนาจำนวนมาก ทำให้มีศักยภาพในด้านพลังงานชีวมวลที่สูงมาก “เดิมกิ่งไม้เหล่านี้ชาวบ้านก็จะนำมาทำเป็นฟืน หรือไม่ก็นำมาเผาเป็นถ่านด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าเตาผี ซึ่งเตาแบบพื้นบ้านไม่สามารถที่จะใช้เศษกิ่งไม้เล็กๆ มาเผาเป็นถ่านได้ เพราะในกระบวนการเผาถ่านจะทำให้สูญเสียเนื้อไม้ไปจำนวนมากเพราะเป็นการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จึงต้องใช้ไม้ขนาดใหญ่เท่านั้นทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรไม้ที่สิ้นเปลือง นอกจากนี้ในการเผาถ่านแบบดั้งเดิมยังก่อให้เกิดควันรบกวนชาวบ้านรายอื่นๆ ที่สำคัญยังก่อให้เกิดสารทาร์ที่นำไปสู่โรคมะเร็งเมื่อนำถ่านที่ผ่านการเผาอย่างไม่มีคุณภาพไปใช้งาน” นายประเสริฐระบุ ทางโครงการฯ จึงได้นำแกนนำชาวบ้านบ้านหนองแวงศรีวิไล ไปศึกษาศึกษาดูงานการทำเตาชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เพื่อมาปรับใช้ให้เหมาะสมในท้องถิ่น พร้อมกับจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานทางเลือกสำหรับชุมชน” ขึ้น โดยนำร่องจัดสร้าง “เตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตร” จำนวน 6 เตา เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ได้มาเรียนรู้ โดยตั้งเป้าจะสร้างเตาเผาถ่านเพิ่มอีก 20 เตาในพื้นที่ทั้ง 3 หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ โดยเตาเผาถ่านชนิดนี้จะใช้ไม้ฟืนจำนวน 80 กิโลกรัม และเมื่อเผาเสร็จจะได้ถ่านไม้คุณภาพสูงประมาณ 20 กิโลกรัม และยังได้น้ำส้มควันไม้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรอีกไม่น้อยกว่า 2 ลิตร โดยชาวบ้านสามารถขายถ่านได้ในราคาที่สูงกว่าปกติคือกระสอบละ 15 กิโลกรัม 130 บาท เพราะเป็นถ่านที่ปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ให้ความร้อนสูง ติดไฟได้นาน ไม่มีควัน จึงได้รับความนิยมจากผู้ใช้เป็นจำนวนมาก นายประสิทธิ์ สุโพธิเมือง ประธานกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองแวงศรีวิไล บอกว่า ครั้งแรกที่เข้าร่วมโครงการเมื่อเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจากก๊าซหุงต้มและถ่านที่ต้องซื้อใช้ในชุมชนก็รู้สึกว่า ต้องหาทางลดรายจ่ายในจุดนี้ลงไปให้ได้เพราะในชุมชนของเราเองก็มีวัตถุดิบเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อได้ไปศึกษาดูงานก็พบว่าการเผาถ่านแบบดั้งเดิมหรือเตาเผาผีนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพของสมาชิกในหมู่บ้านทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ จึงได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะทำเตาเผาถ่านคุณภาพสูงขึ้นมาใช้งานในชุมชน “ในหมู่บ้านของเรามีเศษไม้ที่เหลือจากการตัดแต่งไม้ผลของชาวสวน และมีไม้ยูคาในหัวไร่ปลายนาที่สามารถนำมาทำเป็นถ่านได้จำนวนมาก ที่สำคัญถ่านไม้ที่ได้ยังมีคุณภาพสูง ใช้ได้นานกว่า ให้ความร้อนมากกว่า และยังปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้ ประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องไปเสียเงินซื้อถ่านที่ไม่มีคุณภาพและไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพมาใช้” นายประสิทธิ์ระบุ นายบุญลือ ถีวุฒิตา แกนนำกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเล่าว่า แต่เดิมไม่เคยรู้เลยว่าถ่านที่ใช้อยู่นั้นมีอันตรายต่อสุขภาพมีสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง พอได้ไปเรียนรู้ก็พบว่าเตาเผาถ่านแบบใหม่นั้นไม่ได้ยุ่งยากในการสร้างเลย แถมยังใช้กิ่งไม้ได้ทุกขนาด ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากเศษไม้ได้เกือบทั้งหมด “ถ่านที่ได้ยังมีคุณภาพที่ดีกว่าถ่านที่ได้จากการเผาแบบธรรมดา ติดไฟง่าย ให้ความร้อนสูงเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีคราบเขม่าติดกับภาชนะที่ใช้ประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังได้น้ำส้มควันไม้ ที่นำไปใช้เป็นสารไล่แมลง หรือบำรุงดินให้กับไม้ผลที่ปลูกได้อีก ตอนนี้สมาชิกก็เริ่มคิดว่าจะผลิตถ่านออกจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังทำให้ชาวบ้านเกิดความสามัคคี มีความอบอุ่นเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีการแบ่งน้ำส้มควันไม้ให้กันใช้ หากเหลือจึงค่อยนำมาจำหน่าย” นายบุญลือกล่าว “ข้อดีของของโครงการนี้ก็คือ ชุมชนได้ใช้ถ่านที่มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อสุขภาพ เกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะเวลามีงานบุญต่างๆ แกนนำชาวบ้านก็จะนำถ่านไปช่วยงานเหมือนกับการเอาแรงไปช่วยซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสาน และชาวบ้านยังมีรายได้จากการขายถ่านและน้ำส้มควันไม้ประมาณ 300 บาทต่อเตา นอกจากนี้ศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ตั้งขึ้นยังเป็นสถานที่ให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาศึกษาดูงาน ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านให้สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับคนอื่นๆ ได้อีก เรื่องของสุขภาพก็ดีขึ้น ปลอดภัยจากสารทาร์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่อยู่ในถ่าน ซึ่งทั้งหมดนี้ทางโครงการมุ่งหวังที่อยากให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะทุกวันนี้ในทำนาทำสวนมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ตรงนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น เพราะนอกจากชาวบ้านจะสามารถผลิตถ่านใช้เองแล้วยังได้น้ำส้มควันไม้ที่สามารถนำไปในการเกษตรได้ เป็นการต่อยอดขยายผลให้เกิดการลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรต่อไป” นายประเสริฐหัวหน้าโครงการกล่าวสรุป. ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0805533283 ปุณณดา / บรอดคาซท์ วิตามิน บี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ