ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิต “ธ. ทหารไทย”: องค์กรที่ “A+”, หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ “A”, หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2011 10:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารที่ระดับ “A” และ “BBB+” ตามลำดับ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคาร ส่วน ING Bank N.V. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของธนาคารนั้นก็เข้ามามีบทบาทในการบริหารงานและช่วยเสริมสร้างสถานะทางการเงินและการดำเนินงานของธนาคารให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ธนาคารได้รับประโยชน์จาก ING Bank ด้านความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องการบริหารความเสี่ยง รวมถึงจุดแข็งในธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธนาคารในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับผลขาดทุนที่มิอาจคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงไปจากการมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระดับค่อนข้างสูง ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างอ่อนแอ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและภาวะการเงินทั่วโลก โดยปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดโอกาสในการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าธนาคารจะสามารถปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรและประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้ในระยะปานกลาง การสนับสนุนจาก ING Bank คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างระบบและวิธีปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างรายได้ที่แน่นอนให้แก่ธนาคารในระยะปานกลาง ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตอยู่บนพื้นฐานความคาดหมายที่การบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผลในเดือนสิงหาคม 2554 นี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรงโดยทันทีต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ทริสเรทติ้งรายงานว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ประกอบด้วยกลุ่ม ING Bank และกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 30.1% และ 26.1% ของหุ้นทั้งหมดตามลำดับ คณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารได้รับการแต่งตั้งและเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 โดยเป็นกลุ่มบุคคลที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในวงการธนาคารและมีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโสจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มาก่อน ธนาคารประสบความสำเร็จในการวางรากฐานที่มั่นคงในช่วงปี 2551-2552 เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต และอยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่ 2 ระหว่างปี 2553-2554 ซึ่งเน้นการสนองความต้องการของลูกค้า (Customer Centric) โดยการสร้างความแตกต่างและการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยการให้บริการและการดำเนินงานที่เป็นเลิศ การขยายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้หลากหลาย การปรับปรุงเครือข่ายสาขา และการสร้างการรับรู้ในตราสัญลักษณ์ของธนาคารให้มากขึ้น ทั้งนี้ คณะผู้บริหารยังคงเผชิญกับความท้าทายในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ การขยายฐานสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ และการรักษาฐานเงินทุนให้มั่นคงท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจธนาคารที่ยังคงไม่แน่นอนในอนาคต ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 7 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อ 5.5% และเงินรับฝาก 6.5% สินทรัพย์ของธนาคารตามงบการเงินรวมมีจำนวน 638.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จาก 589.2 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 ธนาคารมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นโดยมีกำไรสุทธิในปี 2553 จำนวน 3,202 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.6% จาก 1,945 ล้านบาทในปี 2552 เป็นผลจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ธนาคารมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 2554 โดยมีกำไรสุทธิ 1,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จาก 789 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมถึงสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ถัวเฉลี่ยและผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสำหรับปี 2553 เท่ากับ 0.57% และ 6.63% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 0.34% และ 4.24% ในปี 2552 อัตราส่วนเหล่านี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในงวด 3 เดือนแรกของปี 2554 โดยมีอัตราส่วนเท่ากับ 0.18% และ 2.2% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.14% และ 1.67% ธนาคารดำเนินการแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพตามแผนกลยุทธ์โดยการจำหน่ายและตัดจำหน่ายหนี้เสียออกจากบัญชีเพื่อให้สินทรัพย์มีคุณภาพดีขึ้น ในปี 2553 ธนาคารขาย NPL จำนวน 9.4 พันล้านบาทให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 ธนาคารมี NPL คงเหลือจำนวน 36 พันล้านบาท (หรือ 9.91% ของเงินให้สินเชื่อรวม) ลดลงจาก 54.1 พันล้านบาท (หรือ 14.66% ของเงินให้สินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2552 แต่อัตราส่วน NPL ของธนาคารยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.79% จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง (ไม่รวมธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ธนาคารมี NPL ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดคงเหลือ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 จำนวน 34.7 พันล้านบาท (หรือ 9.15% ของเงินให้สินเชื่อรวม) จากความพยายามในการแก้ไขปัญหา NPL ของธนาคาร ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เงินให้สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน เงินให้สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) ต่อสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 เท่ากับ 6.86% ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 7.84% และ 12.76% ณ สิ้นปี 2553 และ 2552 ตามลำดับ ธนาคารมีเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพียงพอเมื่อเทียบกับหนี้เสีย โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 มีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็น 0.51 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลดลงจาก 0.73 เท่าในปี 2552 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.58 เท่า ในส่วนของแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุน โดยมีผลทำให้ฐานเงินทุนในปัจจุบันของธนาคารมีการกระจายตัวที่ดี อีกทั้งยังมีต้นทุนต่ำ และมีความมั่นคงยิ่งขึ้น สัดส่วนของเงินรับฝากในบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ต่อเงินรับฝากทั้งสิ้นของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 39% ในปี 2551 เป็น 50% ในปี 2552 และ 49% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 โดยเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 7 แห่ง ในส่วนของฐานเงินทุน ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่งเพื่อใช้ขยายธุรกิจและรองรับความสูญเสียที่มิอาจคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานในระยะปานกลาง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารเท่ากับ 16.42% ลดลงเล็กน้อยจาก 16.59% ในปี 2553 และ 17.13% ในปี 2552 เนื่องจากปริมาณสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 14.96% และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5% ซึ่งกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทริสเรทติ้งกล่าว — จบ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+ อันดับเครดิตองค์กร: TMB19NA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 5,300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A TMB204A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 8,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A TMB09PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2652 คงเดิมที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่) หมายเหตุ: ธนาคารทหารไทยถือหุ้น 15.30% ใน บริษัท ทริสคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทริส) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้น 99.99% ในทริสเรทติ้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ